บัวบก
- ชื่อ
- ส่วนของพืชที่ใช้
- การกระจายตัวทางภูมิศาสตร์/แหล่งที่มา
- ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
- การเพาะปลูก
- สรรพคุณและการใช้สมุนไพรพื้นฐานตามภูมิปัญญาไทยด้านเครื่องสำอาง
- สารเคมีที่เป็นองค์ประกอบ
- สารออกฤทธิ์ หรือ สารสำคัญ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Centella asiatica (L.) Urb.
ชื่อวงค์
APIACEAE (UMBELLIFERAE)
ชื่อสมุนไพร
บัวบก
ชื่ออังกฤษ
Asiatic pennywort, Indianpennywort, Gotu-kola
ชื่อพ้อง
Hydrocotyle asiatica L.
ชื่อท้องถิ่น
ปะหนะเอขาเด๊าะ ผักแว่น ผักหนอก
ชื่อ INCI
CENTELLA ASIATICA ADVENTITIOUS ROOT EXTRACT
CENTELLA ASIATICA CALLUS CONDITIONED MEDIA
CENTELLA ASIATICA CALLUS CULTURE
CENTELLA ASIATICA CALLUS CULTURE LYSATE
CENTELLA ASIATICA CALLUS EXTRACELLULAR VESICLES
CENTELLA ASIATICA CALLUS EXTRACT
CENTELLA ASIATICA EXTRACT
CENTELLA ASIATICA FLOWER/LEAF/STEM EXTRACT
CENTELLA ASIATICA LEAF
CENTELLA ASIATICA LEAF CELL CULTURE EXTRACT
CENTELLA ASIATICA LEAF CELL EXTRACT
CENTELLA ASIATICA LEAF EXTRACT
CENTELLA ASIATICA LEAF WATER
CENTELLA ASIATICA LEAF/STEM EXTRACT
CENTELLA ASIATICA LEAF/STEM POWDER
CENTELLA ASIATICA MERISTEM CELL CULTURE
CENTELLA ASIATICA MERISTEM CELL CULTURE EXTRACT
CENTELLA ASIATICA OIL
CENTELLA ASIATICA ROOT EXTRACT
ส่วนของพืชที่ใช้
การกระจายตัวทางภูมิศาสตร์/แหล่งที่มา
พบได้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาดากัสการ์ ตะวันออกเฉียงใต้ของอเมริกา ตะวันออกของอเมริกาใต้ อินเดีย ศรีลังกา ออสเตรเลีย แอฟริกาใต้และกลาง และประเทศในเขตร้อน (6) ในไทยพบขึ้นทั่วไปตามธรรมชาติและปลูกได้ทั่วทุกภาคของประเทศ ตั้งแต่พื้นที่ราบต่ำจนถึงที่สูงเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง 1,450 เมตร (7)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้ล้มลุกอายุหลายปี เลื้อยไปตามพื้นดิน แตกรากและใบตามข้อ ใบเดี่ยว ออกเป็นกระจุกที่ข้อ ข้อละ 2–10 ใบ แผ่นใบรูปไต ขอบใบจักมน ช่อดอกคล้ายซี่ร่มมี 1–5 ช่อ ช่อหนึ่งมี 3–4 ดอก ก้านช่อดอกเมื่อแรกตั้งตรง ต่อไปจะโค้ง ริ้วประดับมี 2–3 ใบ ก้านดอกย่อยสั้นมาก กลีบดอกสีม่วงแกมสีแดง ส่วนโคนสีจาง ผลแบน (4, 5)
การเพาะปลูก
การปลูก บัวบกขยายพันธุ์โดยการแยกหน่อ และเพาะเมล็ด สภาพพื้นที่ที่เหมาะสมในการปลูก คือ พื้นที่ราบลุ่มมีน้ำขัง พื้นที่นา สามารถปลูกได้ทุกฤดู แต่ต้องมีน้ำตลอดเวลา การเตรียมดิน ทำโดยยกร่องคล้ายแปลงปลูกผัก กว้างประมาณ 4 เมตร ขุดหลุมเล็กๆ บนแปลงดิน ห่างกัน 15 ซม. ระยะแถวควรห่างกัน 15 ซม. เช่นกันนำต้นบัวบกที่แยกจากไหลหรือเพาะเมล็ดลงปลูกในแปลง รดน้ำให้ชุ่มชื้นตลอดเวลา
การเก็บเกี่ยว สามารถเก็บเกี่ยวได้ทุกฤดูกาล เริ่มเก็บเกี่ยวได้หลังจากการปลูกประมาณ 60-90 วัน (135)
สรรพคุณและการใช้สมุนไพรพื้นฐานตามภูมิปัญญาไทยด้านเครื่องสำอาง
ใบใช้รักษาโรคผิวหนังแก้น้ำร้อนลวกไฟลวกทั้งต้นรักษาบาดแผล (8)
สารเคมีที่เป็นองค์ประกอบ
- สารกลุ่มไตรเทอร์ปีนอยด์(triterpenoids)ได้แก่asiatic acid (9-27), madecassic acid (9, 10, 13, 14, 16, 17, 19, 21, 22, 27-29), quadranoside IV (23), terminolic acid (28)
- สารกลุ่มซาโปนิน(saponins) ได้แก่ asiaticoside (9, 10, 12, 13, 15-23, 27, 30-38), asiaticoside G (23), madecassoside (9, 10, 13, 15-18, 20, 21, 28-30, 32-35, 39-43)
- สารกลุ่มแคโรทีนอยด์ (carotenoids) ได้แก่-carotene, lutein (44)
- สารกลุ่มฟลาโวนอยด์(flavonoids)ได้แก่astragalin (23), castilliferol, castillicetin (45), catechin, epicatechin (46), isoquercetin (23), kaempferol (23, 46, 47), myricetin (46, 47), naringenin (46), naringin (44), nobiletin (13), quercetin (23, 46,47), rutin (44)
- สารประกอบฟีนอลิก (phenolic compounds)ได้แก่ caffeic acid (44, 48, 49), chlorogenic acid (48, 50), cinnamic acid (48), 3,5-O-dicaffeoyl-4-O-malonylquinic acid (50), p-coumaric acid (44, 49), ferulic acid, gallic acid, salicylic acid (48), sinapic acid, syringic acid (44), tannic acid (48), vanillic acid (48)
- น้ำมันหอมระเหย (essential oil) (51-53) สารที่พบในน้ำมันหอมระเหย ได้แก่ -humulene, -caryophyllene, bicyclogermacrene, germacrene B, myrcene (53)
สารกลุ่มไตรเทอร์ปีนอยด์ (triterpenoids)
สารกลุ่มซาโปนิน (saponins)
สารกลุ่มแคโรทีนอยด์ (carotenoids)
สารกลุ่มฟลาโวนอยด์ (flavonoids)
สารประกอบฟีนอลิก (phenolic compounds)
องค์ประกอบในน้ำมันหอมระเหย (essential oil)
สารออกฤทธิ์ หรือ สารสำคัญ
- สารออกฤทธิ์ลดเลือนริ้วรอย, ทำให้ผิวหน้าอ่อนเยาว์ได้แก่ asiaticoside (31), madecassoside (39)
- สารออกฤทธิ์รักษาแผลบนใบหน้า ได้แก่ asiaticoside และmadecassoside (32)
- สารออกฤทธิ์รักษาแผลบนผิวกาย ได้แก่ asiatic acid (19-22), asiaticoside (19-22, 33-35), madecassic acid (19, 21, 22), madecassoside (20, 21, 33-35, 40)
- สารออกฤทธิ์ลดเรือนริ้วรอยบนริมฝีปาก ได้แก่ asiaticoside (36)
- สารออกฤทธิ์ทำให้ผิวขาว ได้แก่ asiatic acid, asiaticoside,madecassic acid (37), made-cassoside (41)
- สารออกฤทธิ์ทำให้ทำให้ผิวชุ่มชื้น ได้แก่ madecassoside (42)
- สารออกฤทธิ์ต้านสิวบนผิวกายได้แก่ น้ำมันหอมระเหย (52, 53)
- สารออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระได้แก่ caffeic acid (49), castilliferol, castillicetin (45), p-coumaric acid (49), 3,5-O-dicaffeoyl-4-O-malonylquinic acid (50), catechin, epicatechin (46), kaempferol, myricetin (46, 47), naringenin (46), quercetin (46, 47)
- สารออกฤทธิ์ทำให้ผิวอ่อนเยาว์ ได้แก่ 3,5-O-dicaffeoyl-4-O-malonylquinic acid (50)
- สารออกฤทธิ์ต้านการอักเสบ ได้แก่ asiatic acid (23-27), asiaticoside (23, 27, 38), asiatico- side G, astragalin, kaempferol, quercetin, isoquercetin (23), madecassic acid (27, 29), made-cassoside (29, 42, 43)
แนวทางการควบคุมคุณภาพ (วิเคราะห์ปริมาณสารสำคัญ)
สารกลุ่มไตรเทอร์ปีนอยด์และสารกลุ่มซาโปนิน ตัวอย่างการศึกษา มีดังนี้
การศึกษาที่ 1 วิธีที่ใช้ในการวิเคราะห์ คือ Ultraperformance liquid chromatography (UPLC) วิเคราะห์สาร asiaticoside, madecassoside, asiatic acid และ madecassic acid (16) สภาวะการทดลอง (condition) ที่ใช้ในการวิเคราะห์ คือ
column :AcquityTM UPLC column BEH C18 (1.7 m,2.1x50 มม.), อุณหภูมิคอลัมน์ 40 oC
mobile phase : ระบบ gradient ระหว่างตัวทำละลาย คือ น้ำ และ acetonitrile โดยโปรแกรมดังนี้
flow rate : 0.6 มล./นาที
detector : photo diode array (PDA) ที่ความยาวคลื่น 205 นาโนเมตร
การศึกษาที่ 2 วิธีที่ใช้ในการวิเคราะห์ คือ HPLC วิเคราะห์สาร asiaticoside, madecassoside, asiatic acid และ madecassic acid (17) สภาวะการทดลองที่ใช้ในการวิเคราะห์ คือ
column : Shim-pack VP-ODS C18 (4.6 m, 150x4.6 มม.), อุณหภูมิคอลัมน์ 40 oC
mobile phase : ระบบ gradient ระหว่างตัวทำละลาย คือ acetonitrile และน้ำ โดยโปรแกรม คือ เวลา 0-20 นาที (20-45% acetronitrile), 20-40 นาที (45-65% acetronitrile)
flow rate : 1 มล./นาที
detector : PDA ที่ความยาวคลื่น 206 นาโนเมตร
การศึกษาที่ 3 วิธีที่ใช้ในการวิเคราะห์ คือ Thin-layer chromatography (TLC)-densitometry วิเคราะห์สารasiaticoside และ madecassoside (54) สภาวะการทดลองที่ใช้ในการวิเคราะห์ คือ
stationary phase: แผ่นซิลิกาเจลGFขนาด10x5 ซม.
mobile phase: คลอโรฟอร์ม:เมทานอล:น้ำ (15:7:1)
spray reagent: 0.2% anthrone
dectector : densitometer scanner ที่ความยาวคลื่น 525 นาโนเมตร
การศึกษาที่ 4 วิธีที่ใช้ในการวิเคราะห์ คือ Ultra High Performance Liquid Chromatography วิเคราะห์สาร asiaticoside และ madecassoside (55) สภาวะการทดลองที่ใช้ในการวิเคราะห์คือ
Column : BEH C18 (1.7 m, 2.1x 100 มม.), อุณหภูมิคอลัมน์30 oC
mobile phase : เมทานอล:0.1 M 1-octanesulfonate sodium salt pH 3.0(41:59)
flow rate : 0.3 มล./นาที
injection volume : 2 มคล.
detector : photodiode array, scan wavelength: 210-350 นาโนเมตรและ detection wavelength: 220 นาโนเมตร
run time : 10นาที
การศึกษาทางคลินิก
1 การศึกษาเกี่ยวกับผิวหน้า
1.1 ต้านสิว (F006)
การเปรียบเทียบประสิทธิผลของเจลสารสกัดใบบัวบก5% (Centella asiatica hydroglycerin extract) กับเจล clindamycin1% (ตัวอย่างเจลทั้ง 2 ชนิด จากบริษัท พีซีซีเอ แล็บบอราเทอรี่ จำกัด,กรุงเทพฯ) ในการรักษาสิวโดยทดสอบในอาสาสมัครที่มีสิวระดับความรุนแรงน้อยถึงปานกลางจำนวน 30 คนอายุ 12-45 ปี ซึ่งให้แบ่งซีกใบหน้าเป็นสองข้างและสุ่มเลือกให้ใบหน้าด้านหนึ่งทาเจลสารสกัดจากใบบัวบกและอีกด้านทาเจลclindamycinเฉพาะบริเวณที่เป็นสิว ตอนเช้าและเย็น ทำการประเมินผลจากการนับจำนวนเม็ดสิวและคะแนนระดับความรุนแรงของสิว รวมถึงผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นที่ระยะเวลา 1, 2, 4, 8 และ 12 สัปดาห์และความพึงพอใจโดยรวมของอาสาสมัครต่อการรักษา พบว่าใบหน้าด้านที่ทาเจลสารสกัดใบบัวบก 5% มีจำนวนสิวอักเสบในสัปดาห์ที่ 8 และ 12 น้อยกว่าด้านที่ทาเจลclindamycin 1% ค่าเฉลี่ยของจำนวนสิวไม่อักเสบของใบหน้าทั้ง 2 ด้านลดลงอย่างต่อเนื่องตามช่วงระยะติดตามผลโดยไม่มีความแตกต่างกันและคะแนนระดับความรุนแรงของสิวลดลงอย่างต่อเนื่องตามช่วงระยะติดตามผลของใบหน้าทั้ง 2 ด้าน แต่ในสัปดาห์ที่8 พบว่าใบหน้าด้านที่รักษาด้วยเจลสารสกัดใบบัวบกมีคะแนนระดับความรุนแรงของสิวน้อยกว่า สำหรับอาการข้างเคียงพบว่าด้านที่ทาเจลสารสกัดใบบัวบก จะมีอาการแสบร้อนและคันในระดับน้อยมากเป็นระยะสั้นๆ หลังทายาขณะที่ใบหน้าด้านที่ทาเจลclindamycinผิวหนังอักเสบ มักมีอาการแสบร้อน คัน แห้ง และลอก การประเมินความพึงพอใจในการรักษาโดยอาสาสมัครพบว่ามีความพึงพอใจโดยรวมต่อการรักษาไม่แตกต่างกันทั้ง 2 กลุ่ม สรุปได้ว่าเจลสารสกัดใบบัวบก 5% มีประสิทธิภาพในการลดสิวอักเสบได้ดีกว่าเจลclindamycin 1% ที่ระยะติดตามผล 8-12 สัปดาห์แต่มีความสามารถลดสิวไม่อักเสบได้เทียบเท่ากัน (56)
1.2 ลดเลือนริ้วรอย, ทำให้ผิวหน้าอ่อนเยาว์ (F008)
การศึกษาประสิทธิผลในการรักษาริ้วรอยรอบดวงตาของครีมสารสกัดใบบัวบก (ตัวอย่างจากบริษัทเกรซ เนเจอร์ จำกัด, ประเทศไทย) ในอาสาสมัครเพศหญิง จำนวน 35 คน อายุ 30-45 ปี โดยให้ทาครีมสารสกัดใบบัวบกรอบดวงตาด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่งให้ทาครีมเคาน์เตอร์แบรนด์ (Eucerin® Hyaluron deep line filler) วันละ 2 ครั้ง ตอนเช้าและก่อนนอน ต่อเนื่องกันเป็นเวลา 12 สัปดาห์ประเมินผลการศึกษาในสัปดาห์ที่ 0, 4, 8 และ 12 พบว่าครีมสารสกัดใบบัวบกมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับครีมเคาน์เตอร์แบรนด์ในการลดริ้วรอยรอบดวงตา โดยผิวมีความยืดหยุ่น ความชุ่มชื้น และความเรียบเพิ่มขึ้น ความกว้างของรอยย่น และความหยาบของผิวลดลง สำหรับผลข้างเคียงไม่พบอาการระคายเคือง อาการแพ้ แห้ง แดง ลอก หรือการเกิดสิวของครีมทั้ง 2 กลุ่ม ซึ่งอาสาสมัครมีความพึงพอใจในครีมสารสกัดใบบัวบกมากกว่าครีมเคาน์เตอร์แบรนด์ (57)
เมื่อให้อาสาสมัครเพศหญิงที่มีริ้วรอยรอบดวงตา จำนวน 27 คน อายุ 36-54 ปี ทาครีมที่มีส่วนผสมของสาร asiaticoside 0.1% (ตัวอย่างจากประเทศเกาหลี) บริเวณรอบดวงตาข้างหนึ่งที่มีริ้วรอย วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 12 สัปดาห์ เปรียบเทียบกับดวงตาอีกข้างที่ทาครีมควบคุม พบว่า65% ของอาสาสมัครที่ใช้ครีมซึ่งมีสาร asiaticoside 0.1% จะมีริ้วรอยรอบดวงตาลดลง โดยมี 3 ราย ที่รอยตีนกาหายไป 100%, 75% และ 79% ตามลำดับ (31)
การศึกษาในอาสาสมัครเพศหญิงซึ่งมีรอยตีนกา จำนวน 35 คน โดยให้ทาครีมสารสกัดไตรเทอร์ปีนส์จากบัวบก (Centella triterpenes cream®, ไม่ระบุวิธีการสกัด และแหล่งที่มา) บริเวณหางตาข้างหนึ่ง อีกข้างหนึ่งให้ทาครีมควบคุม วันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 12 สัปดาห์ ประเมินผลทุกๆ 4 สัปดาห์ พบว่าข้างที่ทาครีมสารสกัดไตรเทอร์ปีนส์จากบัวบกรอยตีนกาจะลดลง เมื่อเทียบกับข้างที่ทาครีมควบคุม (58)
การศึกษาในอาสาสมัคร จำนวน 20 คน อายุ 40-70 ปี ซึ่งให้ทาครีมที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากใบบัวบก 0.5% (Centevita™; ตัวอย่างจากบริษัท Indena SpA: ประเทศอิตาลี) ลงบนใบหน้าด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่งให้ทาครีมหลอก เป็นเวลา 6 สัปดาห์ พบว่า 70% ของอาสาสมัครที่ทาครีมสารสกัดใบบัวบก มีความหนา แน่นของคอลลาเจนเพิ่มขึ้น ปริมาณและความลึกของริ้วรอยลดลง ผิวหน้ามีความยืดหยุ่นและความกระชับเพิ่ม ขึ้น 29% และ 17% ตามลำดับ (59)
การศึกษาในอาสาสมัครเพศหญิงที่มีผิวเสื่อมสภาพเนื่องจากแสงแดด(photoaged skin) อายุระหว่าง 45-60 ปี จำนวน 20 คน โดยให้ทาครีมซึ่งมีส่วนผสมของวิตามินซี 5% และสารmadecassoside จากบัวบก 0.1% (Redermic®, ตัวอย่างจาก La Roche-Posay Laboratoire Pharmaceutique, ประเทศฝรั่งเศส) ที่บริเวณด้านหนึ่งของใบหน้า คอ หน้าอก และแขน อีกด้านให้ทาครีมควบคุม (control cream) วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 6 เดือนพบว่าผิวของอาสาสมัครที่ทาครีมทดสอบ จะมีความชุ่มชื้นอ่อนนุ่ม และกระจ่างใสเพิ่มขึ้น ริ้วรอย จุดด่างดำ ความหยาบกร้าน และความหย่อนคล้อยลดลงเมื่อเทียบกับครีมควบคุม (39)
1.3 รักษาแผล (F011)
การศึกษาในอาสาสมัครที่ได้รับการทำเลเซอร์เพื่อรักษารอยแผลเป็นจากสิวบนใบหน้าจำนวน 30 คนอายุเฉลี่ย 30.6±5.6 ปี โดยแบ่งครึ่งใบหน้า ด้านหนึ่งให้ทาเจลสารสกัดบัวบก ความเข้มข้น 0.05%(ตัวอย่างสารสกัดมาตรฐานบัวบก ซึ่งประกอบด้วยmadecassoside 51% และ asiaticoside 38% จากบริษัทSiam Herbal Innovation, ประเทศไทย และตัวอย่างเจลจากบริษัท Pharma Neuva, ประเทศไทย) และอีกด้านหนึ่งให้ทาเจลหลอก (กลุ่มควบคุม) โดยทาหลังจากการทำเลเซอร์ วันละ 4 ครั้ง (เช้า กลางวัน เย็น และก่อนนอน) เป็นเวลา 7 วัน จากนั้นให้ทาวันละ 2 ครั้ง (เช้าและก่อนนอน) เป็นเวลา 3 เดือน ประเมินผลที่เวลาเริ่มต้น(baseline), วันที่ 2, 4 และ 7, สัปดาห์ที่ 2, 4, 8 และ 12 หลังการทำเลเซอร์ พบว่าเจลสารสกัดบัวบกมีผลทำให้รอยแดง การตกสะเก็ดของแผล และลักษณะทั่วไปของแผลหลังจากการทำเลเซอร์ดีขึ้น เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม ทั้งจากการประเมินผลด้วยเครื่องมือและแพทย์ด้านผิวหนัง (32)
การศึกษาในผู้ป่วยที่มีแผลไฟไหม้ระดับ 2 จำนวน 75 คน อายุเฉลี่ย 30.67±9.9 ปี ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ได้รับขี้ผึ้งสารสกัดใบบัวบก 3% (ตัวอย่างจากประเทศอิหร่าน) ซึ่งเตรียมสารสกัดโดยการสกัดด้วย 60% เอทานอล จากนั้นสกัดแยกส่วนโดยใช้ตัวทำละลาย คือ บิวทานอล และปิโตรเลียมอีเทอร์ นำส่วนสกัดด้วยบิวทานอลมาเตรียมเป็นตำรับขี้ผึ้งร่วมกับวาสลีนและกลีเซอรีน โดยใช้ความเข้มข้น 3% และกลุ่มที่ได้รับครีม silver sulfadiazine 1% โดยให้ทาบริเวณที่มีแผลไหม้ วันละครั้ง จนกระทั่งแผลหายดี พบว่าขี้ผึ้งสารสกัดใบบัวบก มีผลในการรักษาแผลไฟไหม้ได้ดีกว่าครีม silver sulfadiazine ทำให้การสร้างเยื่อบุผิวใหม่ (re-epithelialization) และการหายของแผลเร็วกว่า ไม่พบอาการข้างเคียงที่เป็นอันตราย และไม่พบการติดเชื้อในอาสาสมัครจากการใช้ขี้ผึ้งสารสกัดใบบัวบก (60)
2 การศึกษาเกี่ยวกับผิวกาย
2.1 ทำให้ผิวชุ่มชื้น (S004)
การศึกษาประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ที่ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวในรูปแบบของฟลูอิด (fluid) ซึ่งประกอบ ด้วย hyaluronic acid 1%, glycerin 5% และสารสกัดจาก stem cell ของใบบัวบก (ไม่ระบุปริมาณ) (ตัวอย่างประเทศอิตาลี) ในอาสาสมัครเพศหญิง จำนวน 20 คน อายุเฉลี่ย 40 ปี โดยแต่ละคนจะแบ่งแขนเป็น 2 บริเวณ คือ บริเวณทดสอบซึ่งให้ทาฟลูอิด ปริมาณ 0.4 มล. ให้ทั่วพื้นที่ผิว ขนาด 5×15 ซม. และบริเวณควบคุม ทำการประเมินผลจากค่าความชุ่มชื้นของผิวหนัง (skin hydration) และค่าการสูญเสียน้ำจากผิวหนัง (transepidermal water loss, TEWL) ที่เวลาเริ่มต้น, 1, 8 และ 24 ชม. หลังจากการทดสอบพบว่าฟลูอิดมีผลเพิ่มความชุ่มชื้นของผิวได้ 59%, 48% และ 29% หลังจาก 1, 8 และ 24 ชม.ตามลำดับเมื่อเทียบกับค่าเริ่มต้น และลดการสูญเสียน้ำจากผิวหนังของอาสาสมัครได้ 52%, 32% และ 48% หลังจาก 1, 8 และ 24 ชม.ตามลำดับเมื่อเทียบกับค่าเริ่มต้น ขณะที่กลุ่มควบคุมไม่มีผล จะเห็นว่าการใช้ฟลูอิดซึ่งมีส่วนผสมของ hyalu- ronic acid, glycerin และสารสกัดจากบัวบกวันละครั้ง มีผลทำให้ผิวของอาสาสมัครมีความชุ่มชื้นยาวนานสูงสุดถึง 24 ชม.และช่วยให้การทำงานของเกราะป้องกันผิว (skin barrier function)ดีขึ้น (61)
การศึกษาในอาสาสมัครสุขภาพดี จำนวน 25 คน อายุ 18-55 ปี ซึ่งแต่ละคนจะได้รับตำรับครีมและไฮโดรเจลที่มีส่วนผสมของสารสกัดบัวบก ความเข้มข้น 2.5%และ5% (ตัวอย่างจากประเทศโปแลนด์) โดยให้ทาครีมสารสกัด และครีมเบส (กลุ่มควบคุม) ลงบนแขนข้างซ้าย และทาไฮโดรเจล และไฮโดรเจลเบส (กลุ่มควบคุม) ลงบนแขนข้างขวาขนาด 0.1 มล. วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 4 สัปดาห์ประเมินผลที่เวลาเริ่มต้น และทุกสัปดาห์ พบว่าครีมและไฮโดรเจลสารสกัดบัวบก ความเข้มข้น 5% มีผลเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิวได้ 12% และ 10% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม และเพิ่มความชุ่มชื้นของผิวได้ 25% และ 22% เมื่อเทียบกับค่าเริ่มต้นครีมและไฮโดรเจลสารสกัดบัวบก ความเข้มข้น 5% มีผลลดการสูญเสียน้ำจากผิวหนังได้ 18% และ 15% ขณะที่ครีมและไฮโดรเจลสารสกัดบัวบก ความเข้มข้น 2.5% มีผลลดการสูญเสียน้ำจากผิวหนังได้ 10% และ 8% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมในการทดสอบโดยเหนี่ยวนำให้เกิดการระคายต่อผิวหนังด้วยสาร methyl nicotinate พบว่าครีมและไฮโดรเจลสารสกัดบัวบก ความเข้มข้น 5% มีผลลดการบวมแดง, การสูญเสียน้ำ และค่า pH ของผิว จะเห็นตำรับครีมซึ่งมีส่วนผสมของสารสกัดบัวบก ความเข้มข้น 5% ให้ผลดีที่สุดในการเพิ่มความชุ่มชื้นแก่ผิวและลดการอักเสบของผิวได้ (62)
2.2 ทำให้ผิวอ่อนเยาว์ (S007)
เมื่อให้อาสาสมัครเพศหญิงซึ่งมีสุขภาพผิวดี จำนวน 20 คน อายุระหว่าง 20-25 ปี ทาครีมที่มีสารสกัดบัวบก (ไม่ระบุส่วนที่ใช้และวิธีการสกัด), boswellic acids และ sylibin เป็นส่วนประกอบ (ไม่ระบุแหล่งที่มา) บริเวณแขนข้างหนึ่ง อีกข้างหนึ่งทาครีมหลอก วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 1 เดือน พบว่าผิวของอาสาสมัครที่ทาครีมทดสอบ จะมีความกระชับ ความยืดหยุ่น และความชุ่มชื้นเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับครีมหลอก และไม่เกิดการอาการคัน หรือระคายเคืองผิว (63)
2.3 ป้องกันผิวแตกลาย (S011)
การศึกษาในหญิงตั้งครรภ์ จำนวน 80 คน อายุเฉลี่ย 25.55±4.89 ปี มีอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ โดยแบ่งออกเป็น กลุ่มที่ให้ทาครีมซึ่งมีสารสกัดบัวบก (ไม่ระบุส่วนที่ใช้และวิธีการสกัด), วิตามินอี และ collagen-elastin hydrolysates เป็นส่วนประกอบ (Trofolastin®, ไม่ระบุแหล่งที่มา) บริเวณท้อง หน้าอก สะโพก และก้น เป็นประจำทุกวัน จนกระทั่งคลอด และกลุ่มควบคุมที่ทาครีมหลอก พบว่าหญิงตั้งครรภ์ที่ใช้ครีมทดสอบจะเกิดผิวแตกลายน้อยกว่าและรอยแตกลายของผิวลดลง เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม (64)
การศึกษาในหญิงตั้งครรภ์ จำนวน 198 คน ที่มีอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ ซึ่งให้ทาครีมป้องกันผิวแตกลายที่มีส่วนผสมของสารสกัดtriterpenes จากบัวบก, hydroxyprolisilane-C, น้ำมันโรสฮิป (rosehip oil) และวิตามินอี (Velastisa Anti-Stretch Marks ISDIN®, ไม่ระบุแหล่งที่มา) บริเวณท้อง หน้าอก สะโพก ต้นขา และก้น อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง จนถึง 30 วันหลังคลอด เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ให้ทาครีมหลอก(placebocream) พบว่าครีมทดสอบจะช่วยลดรอยแตกลาย และป้องกันไม่ให้เกิดรอยใหม่ของผิวขณะตั้งครรภ์ได้ (65)
2.4 รักษาส้นเท้าแตก (S012)
เมื่อให้อาสาสมัครเพศหญิง จำนวน 20 คน อายุ 20-50 ปี ทาตำรับครีมสมุนไพรสำหรับส้นเท้าแตก ซึ่งมีวุ้นว่านหางจระเข้และสารสกัด 95% เอทานอลจากใบบัวบกเป็นส่วนประกอบ(ตัวอย่างจากประเทศไทย) บริเวณส้นเท้าแตก วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 2 สัปดาห์ ประเมินผลจากแบบประเมินความพึงพอใจและจากภาพถ่ายก่อนและหลังการใช้ครีม พบว่าอาสาสมัครมีระดับความพึงพอใจในการใช้ครีมโดยรวม เท่ากับ 80% และมีความเนียนนุ่มของส้นเท้าดีขึ้น (66)
2.5 รักษาแผล (S015)
การศึกษาผลในการรักษาแผลเรื้อรังของครีมใบบัวบก 1% (ตัวอย่างจากประเทศไทย)ที่เตรียมโดยการสกัดด้วยคลอโรฟอร์ม จากนั้นนำสารสกัดมาผสมกับครีมเบสในอัตราส่วน 1:100 ทดสอบในผู้ป่วยจำนวน 22 ราย อายุ 15-75 ปี โดยให้ทาครีมบริเวณแผล ให้มีความหนาประมาณ 1 มม. เป็นเวลา 21 วัน ทำการวัดขนาดของแผลในวันที่ 7, 14 และ 21 พบว่าขนาดแผลของผู้ป่วยที่วัดทางด้านกว้าง ด้านยาว และด้านลึก ลดลงจากเดิมเฉลี่ย 47.47, 46.98 และ 76.68% ตามลำดับ โดยเมื่อสิ้นสุดการศึกษามีผู้ป่วยแผลหายสนิท 17 ราย ยังไม่หายสนิท 5 ราย และไม่พบผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ ทั้งเฉพาะที่และทั่วร่างกาย (67)
การศึกษาในผู้ป่วยที่มีแผลอักเสบหลังการผ่าตัดจำนวน 14 ราย อายุ 14-80 ปี ซึ่งให้ทาครีมใบบัวบก 1% (ประกอบด้วย asiaticoside 49%, madecassic acid 29% และasiatic acid 22%; ตัวอย่างจากประเทศไทย) วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลาตั้งแต่ 2 สัปดาห์ ถึง 2 เดือน พบว่ามีผู้ป่วยที่แผลหายภายใน 2 สัปดาห์ จำนวน 4 ราย (28.5%) แผลหายภายใน 2-4 สัปดาห์ จำนวน 4 ราย(28.5%) แผลหายภายใน 4-8 สัปดาห์ จำนวน 5 ราย (35.7%) และยังไม่หายหลังจากทายา 2 เดือน ซึ่งเป็นแผลที่เกิดจากกระดูกกดทับ จำนวน 1 ราย (7.1%) (19)
การประเมินประสิทธิภาพของครีมสารสกัดใบบัวบกในการป้องกันการเกิดแผลเป็นในผู้ป่วยซึ่งมีแผลที่ถูกตัดผิวหนังบางส่วนเพื่อปลูกถ่าย (split-thickness skin graft donor sites) จำนวน 30 คน อายุ 20-65 ปีโดยผู้ป่วยแต่ละรายจะมีการแบ่งบริเวณแผลที่ถูกตัดผิวหนังไป (donor sites) เป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งจะให้ทาครีมสารสกัดใบบัวบก 7% (ครีม 100 ก. ประกอบด้วยจากสารสกัด 70% อัลกอฮอล์จากใบ 7 ก. มีสาร asia-ticoside 5.12% และ madecassoside 5.1%, ตัวอย่างจากโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร, จ.ปราจีนบุรี) และอีกส่วนหนึ่งให้ทายาหลอก โดยทาประมาณครั้งละ 1 ก. วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 12 สัปดาห์ ประเมินผลรอยแผลเป็นโดยใช้แบบประเมินVancouver Scar Scale (VSS) ที่เวลา 4, 8 และ 12 สัปดาห์ พบว่ามีผู้ป่วย 23 รายที่เข้าร่วมจนจบการศึกษา ผู้ป่วยที่ได้รับครีมสารสกัดใบบัวบก จะมีคะแนนรวมของVSS และความเข้มเม็ดสี (pigmentation) ของแผลลดลงในสัปดาห์ที่ 8 และ 12 เมื่อเทียบกับก่อนการรักษา ขณะที่ในกลุ่มที่ได้รับยาหลอกจะมีความเข้มเม็ดสีลดลงในระหว่าง 4 และ 12 สัปดาห์ และหลังจาก 12 สัปดาห์ เมื่อเทียบกับก่อนการรักษา สำหรับการประเมินความนูน (height) และความยืดหยุ่นของแผล (pliability) ในผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่ม พบว่าก่อนและหลังการรักษาให้ผลไม่แตกต่างกัน สรุปได้ว่าครีมสารสกัดใบบัวบกมีประสิทธิภาพในการป้องกันการเกิดแผลเป็นในผู้ป่วยซึ่งมีแผลที่ถูกตัดผิวหนังบางส่วนเพื่อปลูกถ่ายได้ ในแง่ที่ช่วยทำให้ระดับความเข้มเม็ดสีของแผลลดลง จึงนับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการนำมาใช้สำหรับรักษารอยแผลเป็นนูนได้ (33)
3 การศึกษาเกี่ยวกับช่องปาก/ริมฝีปาก
3.1 ลิปสติก (L004)
การศึกษาประสิทธิภาพในการลดเรือนริ้วรอยบนริมฝีปากของลิปสติกซึ่งมี asiaticoside 0.2% เป็นส่วนผสม(ตัวอย่างจากประเทศเกาหลี) ในอาสาสมัครเพศหญิง จำนวน 50 คน อายุเฉลี่ย 23.3±3.3 ปี โดยแบ่งออกเป็น กลุ่มที่ให้ทาลิปสติกตัวอย่าง วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 8 สัปดาห์ เปรียบเทียบผลกับกลุ่มควบคุม ประเมินผลการทดสอบด้วยวิธี digital image-analysis ก่อนการทดสอบ และสัปดาห์ที่ 4 และ 8 ของการทดสอบ พบว่าลิปสติกซึ่งประกอบด้วยสาร asiaticoside มีผลลดเลือนริ้วรอยบนริมฝีปากได้ โดยทำให้ความลึกและรอยย่นบนริมฝีปากลดลง (36)
การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา
1 การศึกษาเกี่ยวกับเส้นผมและหนังศีรษะ
1.1 ฤทธิ์ยับยั้งการหลุดร่วงของเส้นผม (H004)
การทดสอบฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ 5-reductase ในเซลล์ต่อมลูกหมากของมนุษย์ชนิด DU-145 ของสารสกัดน้ำจากใบ ไม่ระบุวิธีการสกัด (ตัวอย่างจาก จ.เชียงใหม่) ส่วนสกัดด้วยคลอโรฟอร์ม และส่วนสกัดด้วยน้ำซึ่งแยกจากสารสกัดด้วยวิธีการแยกชั้น (partition) พบว่าสารสกัดน้ำและส่วนสกัดด้วยน้ำ มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ 5-reductase ขณะที่ส่วนสกัดด้วยคลอโรฟอร์มจะมีฤทธิ์กระตุ้นเอนไซม์ ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากสาร สำคัญที่มีในสารสกัดและส่วนสกัดมีความแตกต่างกัน โดยสารสำคัญที่พบในสารสกัดน้ำและส่วนสกัดด้วยน้ำ จะเป็นสารอัลคาลอยด์ในรูปเกลือ ซาโปนิน และสเตียรอยด์กลัยโคไซด์ ซึ่งมีรายงานวิจัยว่าซาโปนินในพืชสามารถยับยั้งเอนไซม์ 5-reductase ได้ ขณะที่ในส่วนสกัดด้วยคลอโรฟอร์มจะพบเฉพาะสารที่ละลายได้ในน้ำมัน เช่น สเตียรอยด์ ซึ่งสารกลุ่มนี้อาจจะเกี่ยวข้องกับ steroidal pathway และเสริมฤทธิ์กับเอนไซม์ จึงทำให้เพิ่มการทำงานของเอนไซม์ได้ (68)
1.2 ฤทธิ์กระตุ้นการงอกของเส้นผม (H005)
สารสกัด 70% เอทานอลจากใบ (ตัวอย่างจาก จ.เชียงราย) ซึ่งเตรียมโดยการแช่สกัด(maceration)ที่อุณหภูมิห้อง เป็นเวลา 24 ชม. ความเข้มข้น 500 และ 1,000 มคก./มล. มีฤทธิ์กระตุ้นการแสดงออกของvascular endothelial cell growth factor (VEGF) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของเส้นผม เมื่อทดสอบในเซลล์ human follicle dermal papilla โดยสารสกัดที่ความเข้มข้น 500 มคก./มล. มีฤทธิ์ดีกว่าเมื่อเทียบกับสารสกัดความเข้มข้น 1,000 มคก./มล. และ 1% minoxidil(1 มคก./มล.) (69)
1.3 ฤทธิ์ป้องกันผมหงอก (H006)
สารสกัดเอทิลอะซีเตทจากบัวบก (ไม่ระบุส่วนที่ใช้ แหล่งที่มา และวิธีการสกัด)ความเข้มข้น 250 มคก./มล. มีฤทธิ์กระตุ้นการสร้างเมลานินได้ 51.09% เมื่อทดสอบในเซลล์melanoma B16F10 ซึ่งใกล้เคียงกับสารมาตรฐาน theophylline (55.05%)เมื่อนำสารสกัดมากักเก็บในนีโอโซม(niosomes) ที่ประกอบด้วย Tween 61/cholesterol ในอัตราส่วนโมลาร์ 1:1 และทดสอบฤทธิ์กระตุ้นการสร้างเมลานิน พบว่านีโอโซมที่กักเก็บสารสกัดไม่มีผลกระตุ้นการสร้างเมลานิน อาจเนื่องจากเซลล์ B16F10 ไม่สามารถย่อยนีโอโซมได้ จึงทำให้เซลล์ไม่สามารถนำสารสกัดที่เก็บกักในนีโอโซมเข้าสู่เซลล์ และส่วนประกอบของนีโอโซมอาจทำให้เกิดพิษต่อเซลล์ จึงทำให้เซลล์มีการเจริญลดลง และไม่สามารถสร้างเมลานินได้ (70)
สารสกัดจากใบ (ไม่ระบุแหล่งที่มาของตัวอย่าง) ซึ่งเตรียมด้วยวิธีpercolation ด้วยตัวทำละลาย 4 ชนิด ได้แก่ เฮกเซน เอทิลอะซีเตท เมทานอล และน้ำ เมื่อนำมาทดสอบฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ ไทโรซิเนสในหลอดทดลอง พบว่าสารสกัดทุกชนิด ความเข้มข้น 50 มก./มล. มีฤทธิ์กระตุ้นเอนไซม์ไทโรซิเนสได้ โดยสารสกัดเฮกเซนจะมีฤทธิ์ดีที่สุด ซึ่งค่าร้อยละของการกระตุ้น (%stimulation) ของสารสกัดเฮกเซน เอทิลอะซีเตท เมทานอล และน้ำ เท่ากับ 92.05, 76.00, 69.14 และ 90.30% ตามลำดับนอกจากนี้สารสกัดเฮกเซนความเข้มข้น 0.75-800 มคก./มล. ยังมีฤทธิ์กระตุ้นการเพิ่มจำนวนของเซลล์เมลาโนไซท์ เมื่อทดสอบในเซลล์mouse melanoma B16F10โดยมีค่าดัชนีการเพิ่มจำนวนของเซลล์(proliferation index, P.I.) เท่ากับ 1.25 (71)
สารสกัดน้ำจากใบ ไม่ระบุวิธีการสกัด (ตัวอย่างจาก จ.เชียงใหม่)และส่วนสกัดด้วยน้ำซึ่งแยกจากสารสกัดด้วยวิธีการแยกชั้น (partition) ความเข้มข้น 0.1 มก./มล. มีฤทธิ์กระตุ้นเอนไซม์ไทโรซิเนส เมื่อทดสอบในเซลล์melanoma B16F10 โดยสามารถกระตุ้นเอนไซม์ได้ 0.37 และ 0.31 เท่า เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับสารสกัด (68)
2 การศึกษาเกี่ยวกับผิวหน้า
2.1 ฤทธิ์ต้านสิวบนใบหน้า (F006)
สารสกัดน้ำจากใบ (ตัวอย่างจากประเทศไทย) เตรียมโดยการแช่สกัด เป็นเวลา 2 ชม. มีฤทธิ์ต้านเชื้อ Staphylococcusaureus (S. aureus) และ Propionibacterium acnes (P. acnes) ได้ โดยค่าความเข้มข้นตํ่าสุดของสารสกัดที่ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย (MIC) และความเข้มข้นตํ่าสุดของสารสกัดที่สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรีย (MBC) ต่อเชื้อทั้ง 2 ชนิด เท่ากับ 200 มก./มล. (72)
สารสกัดจากบัวบก ไม่ระบุส่วนที่ใช้วิธีการสกัด (ตัวอย่างจากประเทศไทย) มีฤทธิ์ต้านเชื้อ P. acnes โดยมีค่า MIC เท่ากับ 5 มก./มล. และค่า MBC > 5 มก./มล. แต่ไม่มีผลต่อเชื้อ S. epidermidis (73)
3 การศึกษาเกี่ยวกับผิวกาย
3.1 ทำให้ผิวขาว (S001)
สารสกัด 50% เมทานอลจากทั้งต้น (ตัวอย่างจากประเทศอินเดีย) เตรียมโดยการสกัดด้วยคลื่นความถี่สูง (sonication)เป็นเวลา 30 นาที ความเข้มข้น 50 มคก./มล. มีฤทธิ์อ่อนในการยับยั้งเอนไซม์ tyrosinase เปอร์เซ็นต์การยับยั้ง (% inhibition) เท่ากับ 8% (74)
ส่วนสกัดด้วยคลอโรฟอร์มที่แยกจากสารสกัดน้ำจากใบ (ไม่ระบุวิธีการสกัด; ตัวอย่างจาก จ.เชียงใหม่)ด้วยวิธีการแยกชั้น (partition) ความเข้มข้น 1 มก./มล. มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์tyrosinaseเมื่อทดสอบในเซลล์melanoma B16F10 โดยยับยั้งเอนไซม์ได้ 0.2 เท่า เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับสารสกัด (68)
อนุภาคนาโน(nanoparticles)กักเก็บสารสกัดจากใบ(ตัวอย่างจากประเทศเกาหลี) ซึ่งเตรียมโดยการสกัดด้วยน้ำ อุณหภูมิ 100 oC เป็นเวลา 24 ชม. ทำให้เป็นผงแห้งด้วยวิธีการทำแห้งแบบแช่เยือกแข็ง (freeze dry) จากนั้นนำสารสกัดมาผ่านกระบวนการ nano-encapsulation กักเก็บให้อยู่ในอนุภาคนาโน ความเข้มข้น 0.5 มก./มล. สามารถยับยั้งเอนไซม์ tyrosinase ได้81.3% ซึ่งมีฤทธิ์ดีกว่าเมื่อเทียบกับวิตามินซี ที่ยับยั้งได้ 70.8% (75)
การศึกษาผลของวิธีการสกัดที่มีต่อการออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ tyrosinase ของสารสกัดน้ำจากบัวบก ไม่ระบุส่วนที่ใช้ (ตัวอย่างจากประเทศเกาหลี)ที่เตรียมโดยการสกัดด้วยวิธีโฟกัสอัลตราซาวน์ (focused high ultrasound extraction) กำลังคลื่น 1,800 วัตต์ ที่อุณหภูมิ 40 oC เป็นเวลา 45 นาที, การสกัดด้วยคลื่นอัลตราซาวน์ (ultrasound extraction) กำลังคลื่น 500 วัตต์ อุณหภูมิ 40 oC เป็นเวลา 45 นาที และการสกัดที่ อุณหภูมิ 40 oC เป็นเวลา 45 นาที(กลุ่มควบคุม) พบว่าสารสกัดด้วยวิธีโฟกัสอัลตราซาวน์ มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ tyrosinase ได้ที่สุดสามารถยับยั้ง 61.52±0.72% และมีปริมาณของสารฟีนอลิกรวมสูงสุด ขณะที่สารสกัดด้วยคลื่นอัลตราซาวน์และกลุ่มควบคุม จะยับยั้งได้ 51.11±1.02% และ 53.22±0.78% ตามลำดับ นอกจากนี้สารสกัดด้วยวิธีโฟกัสอัลตราซาวน์ ความเข้มข้น 0.2-1.0 มก./มล. มีฤทธิ์ดีที่สุดในยับยั้งการสร้างเมลานิน เมื่อทดสอบในเซลล์ melanocyte ของหนู (Clone M-3) เมื่อเทียบกับสารสกัดที่ได้จากการสกัดด้วยคลื่นอัลตราซาวน์และกลุ่มควบคุม(ปริมาณเมลานินในเซลล์ เท่ากับ 74.51±0.41%, 79.61±0.11% และ 82.45±0.43%ตามลำดับ) (76)
น้ำมันหอมระเหยจากทั้งต้น (ตัวอย่างจาก จ.เชียงใหม่) ซึ่งสกัดได้จากวิธีการกลั่นด้วยน้ำ (hydrodis-tillation) เป็นเวลา 3 ชม. มีฤทธิ์อ่อนในการยับยั้งเอนไซม์ tyrosinase (น้อยกว่า 10%) (51)
การทดสอบฤทธิ์ยับยั้งการสร้างเมลานินในเซลล์ melanoma B16F10 ของสารสกัดน้ำจากใบไม่ระบุวิธีการสกัด (ตัวอย่างจากจ.เชียงใหม่) ส่วนสกัดด้วยน้ำ และส่วนสกัดด้วยคลอโรฟอร์มที่แยกจากสารสกัดด้วยวิธีการแยกชั้น (partition) พบว่าสารสกัดน้ำ, ส่วนสกัดด้วยน้ำ ความเข้มข้น 0.1 มก./มล.และส่วนสกัดด้วยคลอโรฟอร์ม ความเข้มข้น 1 มก./มล. มีผลยับยั้งการสร้างเมลานินได้ 0.01, 0.1 และ 0.15 เท่า เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับสารสกัด สำหรับการทดสอบฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ tyrosinase-related protein-2 (TRP-2) ซึ่งเกี่ยวข้องกับกระบวนการการสร้างเมลานินของสารสกัดทั้ง 3 ชนิด ความเข้มข้น 0.1 และ 1 มก./มล. พบว่าส่วนสกัดด้วยคลอโรฟอร์มความเข้มข้น 1 มก./มล.มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ TRP-2 ได้ ขณะที่สารสกัดน้ำและส่วนสกัดด้วยน้ำไม่มีผล (68)
สารสกัดจากใบ (titrated extract of Centella asiatica, TECA) ซึ่งประกอบด้วยสารสำคัญหลัก 3 ชนิด ได้แก่ asiatic acid, madecassic acid และ asiaticoside (ตัวอย่างจากประเทศเยอรมนี, ไม่ระบุตัวทำละลายและวิธีการสกัด) ความเข้มข้น 25, 50 และ 100 มคก./มล. มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างเมลานิน เมื่อทดสอบในเซลล์melanoma B16F1 โดยฤทธิ์จะแปรผันตามความเข้มข้น และการทดสอบฤทธิ์ของสาร asiatic acid, madecassic acid และ asiaticoside (ตัวอย่างจากบริษัท Sigma Aldrich, ประเทศสหรัฐ อเมริกา) ความเข้มข้น 10, 25 และ 50 ไมโครโมลาร์ พบว่า asiaticoside มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างเมลานินในเซลล์ melanoma B16F10 ได้ ขณะที่ asiatic acid และ madecassic acid ไม่มีผลสาร asiaticoside มีฤทธิ์ลดการแสดงออกของยีนของเอนไซม์ tyrosinase โดยยับยั้งการจับกับ DNA (DNA bindingaffinity) ของ microphthalmia associated transcription factor (MITF) ซึ่งเป็นตัวควบคุมการแสดงออกของยีนของเอนไซม์tyrosinase จึงเป็นผลทำให้การสร้างเมลานินในเซลล์ลดลง (37)
การศึกษาฤทธิ์ยับยั้งการสร้างเมลานินของสาร madecassoside(ตัวอย่างจากบริษัท Santa Cruz Biotechnology, ประเทศสหรัฐอเมริกา) ในเซลล์เพาะเลี้ยงkeratinocyteHaCaT ร่วมกับmelanocyte(keratinocyte/melanocyte co-culture system) ที่ถูกกระตุ้นด้วยรังสี UVB พบว่าสาร madecassoside ความเข้มข้น 10 และ 50 ไมโครโมลาร์ สามารถยับยั้งการสร้างเมลานิน และยับยั้งการขนส่งเมลาโนโซม (melanosome transfer) ไปยังเซลล์ keratinocyte ได้ สารmadecassoside ยังมีฤทธิ์ยับยั้งการสร้าง prostaglandin E2 (PGE2) และ prostaglandin F2(PGF2),ยับยั้งการแสดงออกของเอนไซม์cyclo-oxygenase-2 (COX-2) และ protease-activated receptor-2 (PAR-2) ซึ่งเกี่ยวข้องกับกระบวนการสร้างเมลานินในเซลล์ keratinocyte ที่ถูกกระตุ้นด้วยรังสี UVB มีผลทำให้ยับยั้งการสร้างเมลานินได้และการทดสอบในเซลล์ผิวหนังของมนุษย์ (reconstructed human epidermis) ที่ถูกกระตุ้นด้วยรังสี UVB และสาร Ser-Leu-Ile-Gly-Arg-Leu-NH(2) (SLIGRL) พบว่า madecassoside สามารถลดการสร้างเมลานินได้เช่นกัน (41)
3.2 ทำให้ผิวชุ่มชื้น (S004)
สาร madecassoside (ตัวอย่างจากบริษัท Shanghai Inoherb Cosmetics, ประเทศจีน)ความเข้มข้น 100 ไมโครโมลาร์ มีฤทธิ์เพิ่มความชุ่มชื้นแก่ผิว โดยเพิ่มการแสดงออกของโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับความชุ่มชื้นของผิว ได้แก่ aquaporin-3, loricrin และ involucrin เมื่อทดสอบในเซลล์ keratinocyte (HaCaT) และที่ความเข้มข้น 50 ไมโครโมลาร์ มีฤทธิ์เพิ่มการสร้างhyaluronan (HA) เมื่อทดสอบในเซลล์ human dermal fibroblasts โดยเพิ่มการแสดงออกของเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการสร้าง HA (HA synthase) ได้แก่ HAS1, HAS2, HAS3และยับยั้งการเกิดreactive oxygen species (ROS) ที่เกี่ยวข้องกับการสลายของ HA (42)
3.3 ต้านสิวบนผิวกาย (S005)
การทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus aureus ของสารสกัดเฮกเซน, 95% เอทานอลจากใบ (ตัวอย่างจาก จ.นครปฐม และราชบุรี)ซึ่งเตรียมโดยแช่สกัดที่อุณหภูมิห้อง เป็นเวลา 72 ชม. และสารสกัดน้ำจากใบสดและผงใบแห้ง ซึ่งเตรียมโดยการรีฟลักซ์ (reflux) เป็นเวลา 1 ชม. ความเข้มข้น 0.5-10 มก./แผ่น พบว่าสารสกัดน้ำจากใบสดและผงแห้ง จะให้ผลดีที่สุดในการต้านเชื้อโดยมีขนาดของโซนใส(inbition zones) เท่ากับ 6.54-17.72 มม. การหาค่าความเข้มข้นตํ่าสุดของสารสกัดที่ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย (MIC) และค่าความเข้มข้นตํ่าสุดของสารสกัดที่สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรีย (MBC) พบว่าสารสกัดน้ำจากผงใบแห้ง มีฤทธิ์ยับยั้งและฆ่าเชื้อระหว่าง 3-4 มก./มล. และสารสกัดน้ำจากใบสด มีฤทธิ์ยับยั้งและฆ่าเชื้อ ระหว่าง 2-3 มก./มล. (77)
สารสกัดเฮกเซน, ไดคลอโรมีเทน, เอทิลอะซีเตท, ไดเอทิลอีเทอร์ และเมทานอลจากใบ (ตัวอย่างจากประเทศอินเดีย) ไม่ระบุวิธีการสกัด สามารถต้านเชื้อS. aureus ได้ โดยมีค่าโซนใส เท่ากับ 16-20 มม. (78)
สารสกัดอะซีโตน, เอทิลอะซีเตท, เมทานอล และน้ำจากใบ (ตัวอย่างจากประเทศอาฟริกาใต้; vou-cher specimen No. Glow 12/2011) ที่เตรียมโดยแช่ (soak) ใบบัวบกในตัวทำละลายทั้ง 4 ชนิด (อัตราส่วน 1:10 นน./ปริมาตร) และเขย่าด้วยเครื่องเขย่า (shaker) อัตราเร็ว 100 รอบต่อนาที เป็นเวลา 48 ชม. มีฤทธิ์ต้านเชื้อ S. aureus ได้ โดยมีค่าโซนใส เท่ากับ 10±0.7, 13±1.4, 18±1.4 และ 7±3.0 มม. ตามลำดับ และมีค่า MIC เท่ากับ 1.25, 1.25, 2.5 และ 5 มก./มล. ตามลำดับ (79)
สารสกัดเฮกเซน, เอทิลอะซีเตท และเมทานอลจากใบและลำต้น (ตัวอย่างจากประเทศเคนยา) เตรียมโดยการแช่สกัดที่อุณหภูมิห้อง เป็นเวลา 24 ชม. ความเข้มข้น 50, 150, 300 และ 600 มคก./มล. มีฤทธิ์ต้านเชื้อ S. aureus ได้ โดยฤทธิ์จะแปรผันตามความเข้มข้น ซึ่งสารสกัดเมทานอลจากส่วนใบและลำต้นจะมีฤทธิ์ดีที่สุดในการต้านเชื้อ มีค่าโซนใส ระหว่าง17±0-35±0.24 มม. และ 16±0-32±0.24 มม. ตามลำดับ ขณะที่ยา ampicillin มีค่าโซนใส เท่ากับ 30 มม. (80)
สารสกัดน้ำ, 60% เอทานอล และคลอโรฟอร์มจากใบไม่ระบุวิธีการสกัด (ตัวอย่างจากประเทศอินโดนีเซีย) ความเข้มข้น2.5, 5.0 และ7.5 มก./มล. มีฤทธิ์ต้านเชื้อ S. aureusโดยค่า MIC ของสารสกัดน้ำ, 60% เอทานอล และคลอโรฟอร์มมีค่าเท่ากับ 12.5, 7.5 และ 10 มก./มล. ตามลำดับ (81)
สารสกัดเอทานอลจากใบ (ตัวอย่างจากประเทศมาเลเซีย) เตรียมโดยการแช่สกัดด้วยเอทานอล และบ่มในตู้บ่มเชื้อแบบเขย่า (shaking incubator) ที่อุณหภูมิ 37 oC อัตราเร็ว 150 รอบต่อนาที เป็นเวลา 4 วัน ความเข้มข้น 300 มก./มล. มีฤทธิ์ต้านเชื้อ S. aureus ได้ มีค่าโซนใส เท่ากับ 11±0.9มม. ซึ่งฤทธิ์จะน้อยกว่าเมื่อเทียบกับยา ciprofloxacin ความเข้มข้น 10 มคก./แผ่น ที่มีค่าโซนใส เท่ากับ 36±0.7 มม. (82)
สารสกัดเอทานอลจากใบ ไม่ระบุวิธีการสกัด (ตัวอย่างจากประเทศอินเดีย) ความเข้มข้น 1.25, 2.5, 5 และ 10 มก./มล. มีฤทธิ์ต้านเชื้อS. aureus ซึ่งแยกจากผู้ป่วยที่มีแผลติดเชื้อได้โดยมีค่าโซนใสระหว่าง 10-22 มม. และมีค่า MIC เท่ากับ 681.175 มคก./มล. (83)
สารสกัดจากใบ (ตัวอย่างจากประเทศไทย) ซึ่งสกัดด้วยวิธี percolation โดยใช้ 95% เอทานอลเป็นตัวทำละลาย จากนั้นนำสารสกัดที่ได้มาสกัดแยกส่วนด้วยคลอโรฟอร์ม และน้ำ นำส่วนที่ละลายในน้ำมาทำให้แห้งด้วยวิธีการทำแห้งแบบแช่เยือกแข็ง และทดสอบฤทธิ์ของสารสกัด พบว่าสามารถต้านเชื้อS. aureusได้ โดยมีค่า MIC เท่ากับ 2.5 มก./มล. (84)
สารสกัด 80% เอทานอลจากใบ (ตัวอย่างจากประเทศอินเดีย) เตรียมโดยการสกัดด้วยวิธีการเขย่าที่อุณหภูมิ 37 oC เป็นเวลา 48 ชม. ความเข้มข้น 100 มก./มล.มีฤทธิ์ต้านเชื้อ S. aureusสายพันธุ์มาตรฐาน ATCC-25923 และสายพันธุ์ดื้อยาที่แยกได้จากผู้ป่วยโดยมีค่าโซนใสเท่ากับ 15 และ 12.05 มม. ตามลำดับ (85)
สารสกัดจากทั้งต้น (ตัวอย่างจากประเทศอินเดีย) ซึ่งเตรียมโดยการสกัดด้วยตัวทำละลายต่างๆ ได้แก่ เฮกเซน, คลอโรฟอร์ม, 95% เอทานอล และน้ำ ความเข้มข้น 1 มก./แผ่น พบว่าสารสกัดทุกชนิด มีฤทธิ์ต้านเชื้อS. aureus ได้ โดยสารสกัดเฮกเซนและสารสกัดน้ำ จะมีฤทธิ์ดีที่สุด มีค่า MIC เท่ากับ 1.25 และ 2.5มก./มล. ตามลำดับ และค่า MBC เท่ากับ 5 และ 2.5 มก./มล. ตามลำดับ (86)
สารสกัดจากทั้งต้น (ตัวอย่างจากประเทศเคนยา; voucher specimen No. BM/26345/001/2016) เตรียมโดยการแช่(soak) ในตัวทำละลายผสมระหว่างไดคลอโรมีเทนและเมทานอล (อัตราส่วน 1:1) เป็นเวลา 48 ชม. ความเข้มข้น 15.625-500 มก./มล. มีฤทธิ์ต้านเชื้อ S. aureus โดยมีค่า MIC และ MBC เท่ากับ 26.04±5.21 และ 52.10±10.4 มก./มล. ตามลำดับ ซึ่งฤทธิ์จะน้อยกว่าเมื่อเทียบกับยา tetracycline (ค่าMIC และ MBC เท่ากับ 0.25±0.00 และ 1.96±0.00 มคก./มล. ตามลำดับ) (87)
สารสกัด 95% เมทานอลจากทั้งต้น (ตัวอย่างจากประเทศอินโดนีเซีย) ซึ่งสกัดด้วยเครื่อง soxhlet apparatus เป็นเวลา 12ชม. ความเข้มข้น 100, 300 และ 500มก./มล. มีฤทธิ์ต้านเชื้อ S. aureusโดยมีค่าMIC เท่ากับ 148 มก./มล. (88)
สารสกัด 80% เมทานอล และสารสกัดน้ำจากทั้งต้น ไม่ระบุวิธีการสกัด (ตัวอย่างจากประเทศอินเดีย) มีฤทธิ์ต้านเชื้อ S. aureusโดยมีค่าโซนใส เท่ากับ 12 และ 14 มม. และมีค่า MIC 1,000 มก./มล. ซึ่งฤทธิ์อ่อนกว่าเมื่อเทียบกับยา ciprofloxacin และ gentamicin ที่มีค่าโซนใส เท่ากับ 16 และ 24 มม. ตามลำดับ (89)
สารสกัด 95% เอทานอลจากทั้งต้น (ตัวอย่างจากประเทศไทย) เตรียมโดยการหมักเป็นเวลา 6 วัน ความเข้มข้น 200 มก./มล. มีฤทธิ์ต้านเชื้อ S. aureus ได้ มีค่าโซนใส เท่ากับ 14.4 มม. (90)
สารสกัดเมทานอล ไม่ระบุส่วนที่ใช้ (ตัวอย่างจากประเทศอินโดนีเซีย) เตรียมโดยการแช่สกัด เป็นเวลา 24 ชม. ความเข้มข้น 10, 100และ1000 ppm มีฤทธิ์ต้านเชื้อ S. aureus โดยมีค่าโซนใส เท่ากับ 8.56± 0.08, 8.63±0.11และ 9.11±0.13 มม. ตามลำดับ เมื่อเทียบกับยา amoxycillin ที่มีค่าโซนใส เท่ากับ 7.41± 0.13 มม. (91)
น้ำมันหอมระเหยจากบัวบก ไม่ระบุส่วนที่ใช้ (ตัวอย่างจากประเทศอินเดีย) ซึ่งสกัดด้วยวิธีการกลั่นด้วยน้ำ (hydrodistillation)สามารถต้านเชื้อ S. aureusได้ โดยมีค่าโซนใส เท่ากับ 20 มม. แต่ฤทธิ์น้อยกว่าเมื่อเทียบกับสารมาตรฐาน gentamycin sulphate ความเข้มข้น 40 มก./มล. ที่มีค่าโซนใส เท่ากับ 35 มม. (52)
น้ำมันหอมระเหยจากบัวบกไม่ระบุส่วนที่ใช้ (ตัวอย่างจากประเทศแอฟริกาใต้; voucher specimen No. OYA 03/02) ซึ่งสกัดด้วยวิธีการกลั่นด้วยน้ำความเข้มข้น 5 มก./มล. มีฤทธิ์ต้านเชื้อ S. aureusได้ มีค่า MIC เท่ากับ 1.25 มก./มล. โดยสารสำคัญหลักที่พบในน้ำมันหอมระเหย ได้แก่ -humulene (21.06%), -caryophyllene (19.08%), bicyclogermacrene (11.22%), germacrene B (6.29%) และ myrcene (6.55%) (53)
3.4 ต้านอนุมูลอิสระ (S006)
การศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดจากใบ (ไม่ระบุแหล่งที่มาของตัวอย่าง) ที่สกัดด้วยวิธี percolation โดยใช้ตัวทำละลาย 4 ชนิด ได้แก่ เฮกเซน เอทิลอะซีเตท เมทานอล และน้ำด้วยวิธี 1,1-diphenyl-2-picrylhy-drazyl radical scavenging (DPPH), 2,2¢-azinobis-(3-ethylbenzthia-zoline-6-sulfonic acid) (ABTS)และ ferric reducing/antioxidant power (FRAP) พบว่าสารสกัดน้ำมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระได้ดีที่สุด ในวิธี DPPH และ ABTS โดยมีค่าความเข้มข้นของสารสกัดที่ทำให้จำนวนของอนุมูลอิสระลดลงครึ่งหนึ่ง (EC50) เท่ากับ 170.291±2.59 มคก./มล.และมีค่า trolox equivalent antioxidant capacity (TEAC) และ vitamin C equivalent antioxidant capacity (VEAC) เท่ากับ 0.77±0.06 และ2.01±0.06 ตามลำดับ ในการทดสอบด้วยวิธี FRAP พบว่าสารสกัดเอทิลอะซีเตทมีฤทธิ์ดีที่สุด มีค่า FRAP valueเท่ากับ 345.15±0.05 มิลลิโมลาร์ และการทดสอบฤทธิ์ในเซลล์ mouse melanoma B16F10 ที่ถูกเหนี่ยวนำด้วยไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (H2O2) พบว่าสารสกัดน้ำความเข้มข้น 2 มิลลิโมลาร์ มีฤทธิ์ปกป้องเซลล์จากอนุมูลอิสระล์ได้ดีที่สุด โดยมีค่าร้อยละของการรอดชีวิตของเซลล์ (% viability)เท่ากับ 84.41% รองลงมาคือ สารสกัดเอทิลอะซีเตท63.55%เมื่อวิเคราะห์ปริมาณสารฟีนอลิกรวมของสารสกัด พบว่าสารสกัดเอทิลอะซีเตทมีปริมาณสารฟีนอลิกรวมสูงสุด คือ60.00±0.02 มคก. gallic acid equivalent (GAE)/มก. นน.แห้ง (71)
สารสกัดเมทานอลจากใบ (ตัวอย่างจากประเทศอินเดีย) เตรียมโดยการสกัดในอ่างน้ำควบคุมอุณหภูมิแบบเขย่า (shaking water bath) ที่อุณหภูมิ 50 OC ความเข้มข้น 0.025, 0.05, 0.10และ 0.20 มก./มล. มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ เมื่อทดสอบด้วยวิธี DPPH โดยมีเปอร์เซ็นต์การยับยั้งอนุมูลอิสระ (% inhibition) เท่ากับ32.5±0.15-53.3±0.16% ขณะที่สาร butylated hydroxytoluene (BHT) ที่ความเข้มข้นเดียวกัน สามารถยับยั้งได้96.5±0.09-97.9±0.15% (92)
สารสกัดเมทานอลจากใบ (ตัวอย่างจากประเทศมาเลเซีย) เตรียมด้วยวิธีการแช่ (soak) ในเมทานอล เป็นเวลา 7 วัน มีความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระได้ 66.17% เมื่อทดสอบด้วยวิธี ferric thiocyanate และ 63% เมื่อทดสอบด้วยวิธีthiobarbituric acid test ซึ่งเทียบเท่ากับสาร BHT (63%) และการทดสอบด้วยวิธี reducing power พบว่าสารสกัดความเข้มข้น 200-1,200 ppm มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระได้เช่นกัน โดยฤทธิ์แปรผันตามความเข้มข้น ซึ่งสารสกัดที่ความเข้มข้น 1,200 ppm จะมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระได้ดีกว่าสาร BHT (93)
สารสกัดเมทานอลจากใบ (ตัวอย่างจากประเทศอินเดีย) ที่สกัดด้วยเครื่อง soxhlet apparatus เป็นเวลา 48 ชม.ความเข้มข้น 50-2,000 มคก./มล.มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ เมื่อทดสอบด้วยวิธี DPPH, reducing power และ nitric oxide radical scavenging โดยฤทธิ์จะแปรผันตามความเข้มข้น ค่า IC50 จากการทดสอบทั้ง 3 วิธี เท่ากับ 96.15±1.23, 261.43±0.92, 106.32±2.19 มคก./มล. ตามลำดับ (94)
สารสกัดจากใบ (ตัวอย่างจาก จ.อุดรธานี) ที่เตรียมโดยการสกัดด้วย 50% เอทานอล (ไม่ระบุวิธีการสกัด) ที่อุณหภูมิห้อง เป็นเวลา 7 วัน ความเข้มข้น 50, 100 และ 200 มคก./มล. มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ โดยลดระดับของ reactive oxygen species (ROS) ในเซลล์ไมโครเกลีย (BV2 microglial) ที่ถูกเหนี่ยวนำด้วย ด้วยไลโปโพลีแซคคาไรด์ (lipopolysaccharide; LPS) ซึ่งฤทธิ์จะแปรผันตามความเข้มข้นของสารสกัด (95)
สารสกัด 70% เอทานอลจากใบ (ตัวอย่างจาก จ.เชียงราย) ซึ่งเตรียมโดยการแช่สกัดที่อุณหภูมิห้อง เป็นเวลา 24 ชม. และส่วนสกัดที่แยกจากสารสกัดด้วยวิธีการแยกชั้น (partition) ด้วยตัวทำละลาย 4 ชนิด ได้แก่ เฮกเซน, ไดคลอโรมีเทน, เอทิลอะซีเตท และน้ำความเข้มข้น 12.50-200 มคก./มล. มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระได้ ซึ่งฤทธิ์จะแปรผันตามความเข้มข้น โดยสารสกัด 70% เอทานอล ที่ความเข้มข้น 200 มคก./มล. จะมีฤทธิ์ดีที่สุดในการทดสอบด้วยวิธี DPPH มีค่า IC50เท่ากับ 34.63±0.76 มคก./มล. และส่วนสกัดด้วยเอทิลอะ-ซีเตทความเข้มข้น 200 มคก./มล. จะมีฤทธิ์ดีที่สุดในการทดสอบด้วยวิธี ABTSมีค่า IC50เท่ากับ122.22±7.49มคก./มล. เมื่อเทียบกับวิตามินซี และโทรลอกซ์(trolox) ที่มีค่า IC50 13.95±0.01 และ6.41±0.03มคก./มล. ตามลำดับ (69)
สารสกัด 95% เอทานอลจากใบ (ตัวอย่างจาก จ.ลำพูน และเชียงใหม่) เตรียมโดยการแช่สกัดที่อุณหภูมิห้องเป็นเวลา 72 ชม. มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ โดยความสามารถในการตานอนุมูลอิสระ เมื่อทดสอบด้วยวิธีDPPHเท่ากับ 7.12±0.94 มก. GAE/ก. สารสกัด และวิธี ABTSเท่ากับ33.04±6.90 มก.Trolox equivalent(TE)/ก. สารสกัด (96)
สารสกัด 96% เอทานอลและสารสกัดน้ำจากใบ (ตัวอย่างจากประเทศเวียดนาม)เตรียมโดยการสกัดที่อุณหภูมิ 70 oC เป็นเวลา 1 ชม.มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ เมื่อทดสอบด้วยวิธี DPPH โดยสารสกัด 96% เอทานอลมีฤทธิ์ดีกว่าสารสกัดน้ำ (ค่า IC50เท่ากับ 1,744.77 และ 2,324.26 มคก./มล. ตามลำดับ) ขณะที่ในการทดสอบด้วยวิธี ABTS พบว่าสารสกัดน้ำจะมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระได้ดีกว่า (ค่า IC50 เท่ากับ 462.38 และ 1,058.10 มคก./มล. ตามลำดับ) แต่สารสกัดทั้ง 2 ชนิด มีฤทธิ์น้อยกว่าเมื่อเทียบกับวิตามินซี (ค่า IC50 เท่ากับ 3.05 และ 2.51 มคก./มล. ในการทดสอบด้วยวิธี DPPH และ ABTS ตามลำดับ) (97)
สารสกัดเอทานอลจากใบ (ตัวอย่างจากประเทศอินเดีย) ที่สกัดโดยใช้เครื่อง soxhlet apparatusความเข้มข้น 12.5, 25, 50, 100, 200 มคก./มล. มีฤทธิ์ต้านอนมูลอิสระ เมื่อทดสอบด้วยวิธี hydroxyl radical scavenging, superoxide anion scavenging, DPPH, nitric oxide radical scavenging, ABTS และ iron chelating โดยฤทธิ์ของสารสกัดจะแปรผันตามความเข้มข้น ซึ่งค่า EC50ของการทดสอบแต่ละวิธีมีค่าเท่ากับ 99.29±4.2, 78.98±5.4, 95.88±8.3, 80.90±3.5,38.26±7.8 และ 68.13±7.9 มคก./มล. ตาม ลำดับ (13)
การศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดจากใบ (ตัวอย่างจากประเทศมาเลเซีย) เตรียมโดยสกัดด้วยตัวทำละลาย 3 ชนิด ได้แก่ ปิโตรเลียมอีเทอร์ เอทานอล และน้ำ ใน shaking incubator ที่อุณหภูมิ 25±1 oC เป็นเวลา 24 ชม. ทดสอบด้วยวิธี linoleic acid model system และ thiobarbituric acid test พบว่าสารสกัดเอทานอลจะมีฤทธิ์ดีกว่าสารสกัดน้ำในการต้านอนุมูลอิสระ ขณะที่สารสกัดปิโตรเลียมอีเทอร์ไม่มีผล (98)
สารสกัดจากใบ (ตัวอย่างจาก จ.เชียงราย) ซึ่งสกัดด้วยน้ำโดยใช้วิธีการรีฟลักซ์ ที่อุณหภูมิ 95 oC เป็นเวลา 30 นาที มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ เมื่อทดสอบด้วยวิธี DPPH โดยมี % การยับยั้ง เท่ากับ 63.60±0.12% และมีค่าantioxidant protection factor (APF) เท่ากับ 1.07±0.01 เมื่อทดสอบด้วยวิธี antioxidant protection factor assay โดยวัดการฟอกสีของเบต้า-แคโรทีน สารสกัดมีปริมาณของสารฟีนอลิกรวม เท่ากับ 52.30±0.34 มก. GAE/ก. นน.แห้ง ซึ่งสารฟีนอลิกหลักที่พบ ได้แก่ caffeic acid และ p-coumaric acid (เท่ากับ 1.30 และ 8.58 มก./ก. นน.แห้งตามลำดับ) (49)
สารสกัดน้ำจากใบ (ตัวอย่างจากประเทศบราซิล)เตรียมด้วยวิธีการชง (infusion) ในน้ำที่มีความบริสุทธิ์สูง จากนั้นนำมาสกัดด้วยวิธีการแช่สกัดด้วยความเย็น (cold maceration) เป็นเวลา 24 ชม. ความเข้มข้น 0.97-250 มคก./มล. มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ เมื่อทดสอบด้วยวิธี DPPH มีค่า IC50เท่ากับ 31.25 มคก./มล. แต่มีฤทธิ์น้อยกว่าเมื่อเทียบกับวิตามินซี และสาร BHT (ค่า IC50 2.50 และ7.58 มคก./มล. ตาม ลำดับ)โดยสารสกัดมีปริมาณของสารฟีนอลลิกและสารฟลาโวนอยด์ เท่ากับ 2.86 และ 0.361 ก./100 ก. ตามลำดับ (99)
การศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดเอทานอลจากทั้งต้น (ตัวอย่างจากประเทศมาเลเซีย)ที่เตรียมโดยการแช่ (soak) ในตัวทำละลายต่างๆ ได้แก่ 70% อะซีโตน, 70% เอทานอล, 70% เมทานอล และน้ำกลั่น ที่อุณหภูมิห้อง (27±1oC) เป็นเวลา 1 ชม.พบว่าสารสกัด 70% เอทานอลจะมีปริมาณของสารฟีนอ-ลิกรวมสูงสุด (52.5±0.7มก. GAE/ก. นน.แห้ง) รองลงมาคือ สารสกัด70% อะซีโตน, 70% เมทานอล และน้ำกลั่น ขณะที่สารสกัด 70% อะซีโตนจะมีปริมาณของฟลาโวนอยด์รวมสูงสุด (3.5±0.4 มก. quercetin equivalent (QE)/ก. นน.แห้ง) รองลงมาคือ สารสกัด70% เมทานอล, น้ำกลั่นและ70% เอทานอล ตามลำดับ สำหรับฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ พบว่าสารสกัด 70% เอทานอล มีฤทธิ์ดีที่สุด เมื่อทดสอบด้วยวิธี FRAP ขณะที่สารสกัด 70% เมทานอล มีฤทธิ์ดีที่สุด เมื่อทดสอบด้วยวิธีDPPH (100)
การเปรียบเทียบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดน้ำจากทั้งต้น (ตัวอย่างจากประเทศอินเดีย)เตรียมด้วยวิธีการสกัด 3 วิธี ได้แก่ 1) การชง (infusion) โดยแช่ตัวอย่างด้วยน้ำต้ม ตั้งทิ้งไว้ 30 นาที 2) การต้ม (decoction) โดยต้มตัวอย่างด้วยน้ำที่อุณหภูมิ 100 oC เป็นเวลา 30 นาที และ 3) การสกัดด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง(ultrasound-assisted extraction) เป็นเวลา 30 นาที ทดสอบด้วยวิธี DPPH ที่ความเข้มข้น 25, 50 และ 100 มก./มล. พบว่าสารสกัดน้ำที่ได้จากการสกัดด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระได้ดีที่สุด รองลงมาคือ สารสกัดจากการต้ม และสารสกัดจากการชง และมีปริมาณของสารฟีนอลิกรวมสูงที่สุด (8.32±0.105, 4.77±0.006 และ 3.42±0.030 มก. GAE/ก. สารสกัด ตามลำดับ) (101)
น้ำมันหอมระเหยจากทั้งต้น (ตัวอย่างจาก จ.เชียงใหม่) ซึ่งสกัดได้จากวิธีการกลั่นด้วยน้ำ (hydrodis-tillation) เป็นเวลา 3 ชม. มีฤทธิ์อ่อนในการต้านอนุมูลอิสระ เมื่อทดสอบด้วยวิธี ABTS และFRAP (51)
สารสกัด 36% เอทานอลจากส่วนเหนือดิน (ตัวอย่างจากประเทศมาเลเซีย) เตรียมโดยการรีฟลักซ์ที่อุณหภูมิ 60 oC เป็นเวลา 1 ชม.ความเข้มข้น 1 มก./มล. มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ เมื่อทดสอบด้วยวิธี DPPH ซึ่งฤทธิ์ของสารสกัดบัวบกเมื่อเทียบกับวิตามินซี, สารสกัดชาเขียว และสารสกัดเมล็ดองุ่น พบว่าสารสกัดบัวบกมีฤทธิ์ดีกว่าสารสกัดเมล็ดองุ่น แต่น้อยกว่าวิตามินซี และสารสกัดชาเขียว (% การยับยั้ง เท่ากับ 84%, 83%, 88% และ 95% ตามลำดับ) (102)
สารสกัด 95% เอทานอลจากส่วนเหนือดิน (ตัวอย่างจาก จ.ปทุมธานี) เตรียมโดยการสกัดด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง(ultrasound-assisted extraction) ที่ 40kHzอุณหภูมิ 40 oC เป็นเวลา 30 นาที จากนั้นทำการแช่สกัดต่อจนครบเวลา 7 วัน มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ เมื่อทดสอบด้วยวิธี DPPH และ ABTS โดยมีค่า IC50เท่ากับ 0.32±0.01 และ 0.71± 0.02 มก./มล. ตามลำดับ แต่มีฤทธิ์น้อยกว่าเมื่อเทียบกับวิตามินซีที่มีค่า IC50เท่ากับ 0.005±0.00มก./มล. (วิธี DPPH) และ 0.033±0.001 มก./มล. (วิธี ABTS) (103)
สารสกัดบัวบก ไม่ระบุส่วนที่ใช้ (ตัวอย่างจากประเทศมาเลเซีย) เตรียมโดยการสกัดด้วยเมทานอลที่อุณหภูมิ 40 ◦C เป็นเวลา 2 ชม. มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ เมื่อทดสอบด้วยวิธี DPPH มีค่า IC50เท่ากับ 40.50 ±0.10 มคก./มล. สารสกัดมีปริมาณของสารฟีนอลิกรวม เท่ากับ 183.24±0.68 มก. GAE/ก. นอกจากนี้ยังพบสารกลุ่มฟลาโวนอยด์หลายชนิด ได้แก่catechin, epicatechin, kaempferol myricetin, naringenin และquercetin (46)
สารสกัด95% เอทานอล ไม่ระบุส่วนที่ใช้ (ตัวอย่างจากประเทศอินโดนีเซีย) ที่เตรียมด้วยการเขย่า (shaking)มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ เมื่อทดสอบด้วยวิธี DPPH, ABTS, FRAP โดยมีความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระ เท่ากับ 13.8±0.39, 1.18±0.02และ 38.3±0.5ไมโครโมลาร์/ก. นน.สด ตามลำดับ สารสกัดมีฤทธิ์ยับยั้งการเกิดออกซิเดชันของไขมัน (lipid peroxidation) ได้ 92.8±1.1% ปริมาณของสารฟลาโวนอยด์รวมในสารสกัด เท่ากับ 20.9±0.7มก./100 ก. นน.สด ซึ่งสารสำคัญหลักที่พบ ได้แก่ kaempferol, myrice-tin และ quercetin (47)
สารสกัดน้ำ ไม่ระบุส่วนที่ใช้ (ตัวอย่างจากประเทศอินเดีย; voucher specimens No. IASST/BCCS/ HNO21/2013)เตรียมด้วยวิธีการเขย่า(shaking)เป็นเวลา 72 ชม. ความเข้มข้น 4-64 มคก./มล. มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระเมื่อทดสอบด้วยวิธี DPPH, total reduction capability, ABTS, hydrogen peroxide radical scavenging, nitric oxide radical scavenging และ lipid peroxidation assay แต่ฤทธิ์จะน้อยกว่าเมื่อเทียบกับวิตามินซีและโทรลอกซ์ ยกเว้นการทดสอบด้วยวิธี DPPH ที่สารสกัดจะมีฤทธิ์ดีกว่าวิตามินซี (ค่า IC50 ของสารสกัด, วิตามินซี และโทรลอกซ์ เท่ากับ 9.62±0.88, 6.93±0.76และ14.32±1.6มคก./มล. ตามลำดับ) (104)
สารสกัดจากบัวบก ไม่ระบุส่วนที่ใช้ (ตัวอย่างจากประเทศโปแลนด์) ซึ่งสกัดด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (ultrasound-assisted extraction) โดยใช้ตัวทำละลายผสมระหว่างน้ำและกลีเซอรีน (อัตราส่วน 80:20) ที่อุณหภูมิห้อง เป็นเวลา 48 นาที ความเข้มข้น 0.5%-10% มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ เมื่อทดสอบด้วยวิธี DPPH มีค่า EC50เท่ากับ 4.2±1.2% (105)
สารประกอบฟีนอลิกในรูปอิสระที่ละลายน้ำได้ (soluble phenolic compounds) และรูปที่ถูกตรึง (bound phenolic compounds) จากบัวบก (ตัวอย่างจากประเทศศรีลังกา)ซึ่งแยกโดยสกัดใบบัวบกด้วย 70% อะซีโตน ไม่ระบุวิธีการสกัด อัตราส่วน 1:2 (นน./ปริมาตร) เป็นเวลา 30 นาที จากนั้นนำมากรอง ซึ่งจะแยกได้เป็น ส่วนของสารสกัดที่เป็นของเหลว (soluble phenolic compounds) และส่วนที่เหลือจากการกรอง (residues) ซึ่งนำสกัดต่อด้วยวิธี alkaline hydrolysis และสกัดแยก bound phenolic compounds ด้วยเอทิลอะซีเตทเมื่อทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี hydroxyl radical scavenging, nitric oxide radicals inhibitory, singlet oxygen scavenging และ ABTS พบว่าสามารถต้านอนุมูลอิสระได้ ซึ่งสารประกอบฟีนอลิกในรูปอิสระจะมีฤทธิ์ดีกว่าสารประกอบฟีนอลิกในรูปที่ถูกตรึง และการทดสอบฤทธิ์ของสารสกัด 80% เมทานอลจากใบ ซึ่งเตรียมสารสกัดด้วยการเขย่า (vortex) ที่ความเร็วสูง เป็นเวลา 5 นาที พบว่ามีค่า IC50 เท่ากับ 2.65, 0.70, 2.06 และ 1.64 มก./มล. เมื่อทดสอบด้วยวิธี hydroxyl radical sca-venging, nitric oxide radicals inhibitory, singlet oxygen scavenging และ ABTS ตามลำดับ (106)
สารกลุ่มฟลาโวนอยด์ ได้แก่ castilliferol และ castillicetin ที่แยกได้จากสารสกัด 60% เมทานอลจากบัวบกทั้งต้น (ตัวอย่างจากประเทศอินเดีย)ความเข้มข้น 5, 25, 50 มคก./มล. มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระได้ เมื่อทดสอบด้วยวิธี DPPH โดยมีค่า IC50เท่ากับ 23.10 และ 13.30 มคก./มล. ตามลำดับ เมื่อเทียบกับกรดแกลลิก (gallic acid)ที่มีค่า IC5014.85 มคก./มล. (45)
สาร 3,5-O-dicaffeoyl-4-O-malonilquinic acid หรือ irbic acid ซึ่งแยกได้จากสารสกัดเอทานอลจากบัวบกที่มาจากการเพาะเลี้ยงเซลล์ (ตัวอย่างจากประเทศอิตาลี; voucher specimen No. BOLO 0500914) ความเข้มข้น 0.05-10 มคก./มล. มีฤทธิ์ดีในการต้านอนุมูลอิสระ เมื่อทดสอบด้วยวิธี DPPH โดยฤทธิ์จะแปรผันตามความเข้มข้น มีค่า IC50 เท่ากับ 2.29 มคก./มล. ซึ่งเทียบได้กับวิตามินซี และ caffeic acid (IC50 2.1 และ 1.15 มคก./มล. ตามลำดับ) และมีฤทธิ์ดีกว่าสารresveratrol และ rutin(IC50 10.96 และ 16.47 มคก./มล. ตามลำดับ) (50)
3.5 ทำให้ผิวอ่อนเยาว์ (S007)
สารสกัดน้ำจากใบ (ตัวอย่างจากประเทศเกาหลี) เตรียมโดยการสกัดด้วยน้ำ อุณหภูมิ 100 oC เป็นเวลา 24 ชม. ทำให้เป็นผงแห้งด้วยวิธีการทำแห้งแบบแช่เยือกแข็ง (freeze dry) จากนั้นนำสารสกัดมาผ่านกระบวนการ nano-encapsulation กักเก็บให้อยู่ในอนุภาคนาโน (nanoparticles) ทำการทดสอบฤทธิ์ในการยับยั้งเอนไซม์ hyaluronidase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการเสื่อมสภาพของผิว ในเซลล์ human skin fibro-blastCCD-986sk เปรียบเทียบผลกับสารสกัดที่ไม่ได้กักเก็บ พบว่าอนุภาคนาโนกักเก็บสารสกัดบัวบก ความเข้มข้น 100-500 มคก./มล. มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ได้ดีกว่าสารสกัดที่ไม่ได้กักเก็บ โดยฤทธิ์จะแปรผันตามความเข้มข้น มี %การยับยั้ง เท่ากับ 30-60% นอกจากนี้อนุภาคนาโนกักเก็บสารสกัดบัวบกความเข้มข้น 0.5 มก./มล. ยังมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์matrix metalloproteinase (MMP)-1 โดยยับยั้งได้ 59.5% ขณะที่สารสกัดที่ไม่ได้กักเก็บยับยั้งได้ 47.1% (75)
การทดสอบฤทธิ์ของสารสกัดน้ำจากใบบัวบก ความเข้มข้น 1% ไม่ระบุวิธีการสกัด (ตัวอย่างจากประเทศมาดากัสการ์) ในหลอดทดลองกับชิ้นส่วนผิวหนังของมนุษย์ (human skin explants) โดยใส่สารสกัดปริมาณ 2 มก./ชิ้นส่วนผิวหนัง ในวันที่ 0, 2 และ 5 ของการทดสอบ จากนั้นในวันที่ 5 ทำการฉายรังสีชิ้นส่วนผิวหนังด้วยเครื่อง UV irradiator พบว่าสารสกัดใบบัวบกมีฤทธิ์ปกป้อง DNA ของเซลล์ผิวหนังจากการถูกทำลายด้วยรังสี UV โดยลดการเกิดปฏิกิริยา thymine photodimerization ซึ่งทำให้เกิดการเสียหายต่อ DNA ได้ 28% เมื่อเปรียบเทียบกับชิ้นส่วนผิวหนังที่ไม่ได้รับสารสกัด นอกจากนี้สารสกัดใบบัวบก ปริมาณ 2 มก./ชิ้นส่วนผิวหนัง ยังมีผลยับยั้งปฏิกิริยาไกลเคชัน(glycation) ซึ่งเกี่ยวข้องกับความเสื่อมหรือการแก่ของผิว โดยยับยั้งการเกิด advanced glycation endproduct คือ carboxymethyl lysine เมื่อทดสอบในชิ้นส่วนผิวหนังของมนุษย์ที่ถูกเหนี่ยวนำด้วยสาร methylglyoxal (59)
สารสกัด 50% เมทานอลจากทั้งต้น (ตัวอย่างจากประเทศอินเดีย) เตรียมโดยการสกัดด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (sonication)เป็นเวลา 30 นาที ความเข้มข้น 50 มคก./มล. มีฤทธิ์อ่อนในการยับยั้งเอนไซม์ elastase (ยับยั้งได้ 9%) (74)
สารสกัด 36% เอทานอลจากส่วนเหนือดิน (ตัวอย่างจากประเทศมาเลเซีย) เตรียมโดยการรีฟลักซ์ที่อุณหภูมิ 60 oC เป็นเวลา 1 ชม. ความเข้มข้น 10, 30, 50 มก./มล. มีฤทธิ์กระตุ้นการสร้างคอลลาเจน เมื่อทดสอบในเซลล์human dermal fibroblast (ATCC CRL-2450) โดยสามารถเพิ่มการสร้างคอลลาเจนได้ 1.4, 2 และ 3 เท่า ตามลำดับ เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับสารสกัด ขณะที่วิตามินซี ความเข้มข้น 25 มคก./มล. มีผลเพิ่มการสร้างคอลลาเจนได้ 2 เท่า เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม (102)
สารสกัด95% เอทานอลจากส่วนเหนือดิน (ตัวอย่างจาก จ.ปทุมธานี) เตรียมโดยการสกัดด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง(ultrasound-assisted extraction) ที่อุณหภูมิ 40 oC เป็นเวลา 30 นาที จากนั้นทำการแช่สกัดต่อจนครบเวลา 7 วัน มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ collagenase และelastase ได้78.13±4.42% และ 12.45± 0.44% ตามลำดับ โดยเมื่อเปรียบเทียบกับสารepigallocatechin gallate(EGCG) พบว่าสารสกัดมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ collagenase ได้ดีกว่า แต่ยับยั้งเอนไซม์elastase ได้น้อยกว่าEGCG(% การยับยั้งของEGCG เท่ากับ 71.88±0.00% และ95.89±0.22% ตามลำดับ) (103)
สารสกัดจากบัวบก ไม่ระบุส่วนที่ใช้ (ตัวอย่างจากประเทศโปแลนด์) ซึ่งสกัดด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (ultrasound-assisted extraction) โดยใช้ตัวทำละลายผสมระหว่างน้ำและกลีเซอรีน (อัตราส่วน 80:20) ที่อุณหภูมิห้อง เป็นเวลา 48 นาที ความเข้มข้น 0.5% และ 5.0% มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ collagenase และ elastase โดยมีค่า EC50เท่ากับ 2.34±0.08% และ 0.52±0.04% (105)
สาร 3,5-O-dicaffeoyl-4-O-malonilquinic acid หรือ irbic acid ซึ่งแยกได้จากสารสกัดเอทานอลจากบัวบกที่มาจากการเพาะเลี้ยงเซลล์ (ตัวอย่างจากประเทศอิตาลี; voucher specimen No. BOLO 0500914) ความเข้มข้น 50-1,000 มคก./มล. มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ collagenase ได้ โดยในช่วงความเข้มข้น 50-250 มคก./มล. ฤทธิ์จะแปรผันตามความเข้มข้น จากนั้นในช่วงความเข้มข้น 500-1,000 มคก./มล. ฤทธิ์จะคงที่ (50)
การศึกษาฤทธิ์ชะลอความแก่ของผิวในหนูเม้าส์ โดยแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มควบคุมที่ได้รับครีมเบส, กลุ่มควบคุมที่ได้รับครีมซึ่งมีอนุพันธ์ของวิตามินซี (ethyl ascorbyl ether) เป็นส่วนประกอบ, กลุ่มที่ได้รับครีมซึ่งมีสารสกัดจากบัวบก 10%เป็นส่วนประกอบ (ไม่ระบุตัวทำละลายและวิธีการสกัด, ตัวอย่างจากประเทศอินโดนีเซีย), กลุ่มที่ได้รับครีมซึ่งสารtetrahydrocurcumin 2% เป็นส่วนประกอบ และกลุ่มที่ได้รับครีมผสมที่มีสารสกัดจากบัวบก 10% และสาร tetrahydrocurcumin 2% เป็นส่วนประกอบ โดยแต่ละกลุ่มจะให้ทาครีมขนาด 2 มก./ตร.ซม. ที่บริเวณผิวด้านหลังของหนู ก่อนและหลังจากทำการฉายรังสี UV ทุกวัน เป็นเวลา 4 สัปดาห์ ประเมินผลจากค่าanti-aging parametersได้แก่ ความไวของผิว (skin sensitivity), ความชุ่มชื้นของผิว, ปริมาณของคอลลาเจน, ความยืดหยุ่นของผิว และความกว้างของรูขุมขน (large pores) โดยใช้เครื่อง skin analyzer พบว่าครีมผสมที่มีสารสกัดจากบัวบกและสาร tetrahydrocurcumin เป็นส่วนประกอบ มีผลเพิ่มปริมาณของคอลลาเจน และเพิ่มความยืดหยุ่นของผิวได้ เมื่อเทียบกับครีมที่มีสารสกัดจากบัวบก และครีมที่มีสาร tetrahydrocurcumin เป็นส่วนประกอบเพียงอย่างเดียว แต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อประเมินคะแนนทั้งหมดของค่า anti-aging parameters จะเห็นว่าครีมที่มีสาร tetrahydrocurcumin เป็นส่วนประกอบ จะมีประสิทธิภาพดีที่สุดใกล้เคียงกับครีมซึ่งมีอนุพันธ์ของวิตามินซี (ethyl ascorbyl ether) เป็นส่วนประกอบ ขณะที่ครีมที่มีสารสกัดจากบัวบกเป็นส่วนประกอบจะมีฤทธิ์ต่ำสุด และครีมผสมที่มีสารสกัดจากบัวบกและสาร tetrahydrocurcumin เป็นส่วนประกอบ มีประสิทธิภาพไม่ต่างจากครีมที่มีสารสกัดจากบัวบก และครีมที่มีสาร tetrahydrocurcumin เป็นส่วนประกอบเพียงอย่างเดียว (107)
สารสกัด 70% เอทานอลไม่ระบุส่วนที่ใช้ (ตัวอย่างจากประเทศอินโดนีเซีย) เตรียมโดยการแช่สกัดเป็นเวลา 24 ชม. เมื่อนำมาเตรียมเป็นตำรับครีมซึ่งประกอบด้วยสารสกัดบัวบก ความเข้มข้น 2.5%, 5%, 7.5% และ 10% จากนั้นทำการทดสอบฤทธิ์ชะลอความแก่ของผิวในหนูแรทเพศเมียที่ถูกเหนี่ยวนำด้วยการตากแดด วันละ 4 ชม. (ช่วงเวลา 9.00-13.00 น.) เป็นเวลา 5 วัน โดยทาครีมทดสอบ วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 4 สัปดาห์ ประเมินผลโดยใช้เครื่องskin analyzer เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ทาครีมเบสซึ่งไม่มีสารสกัดบัวบก พบว่าครีมสารสกัดบัวบกทุกความเข้มข้น มีผลทำให้ปริมาณของคอลลาเจน และความชุ่มชื้นของผิวเพิ่มขึ้น โดยครีมสารสกัดบัวบกความเข้มข้น 10% จะให้ผลดีที่สุด สามารถเพิ่มปริมาณของคอลลาเจนได้ 77.89% และเพิ่มปริมาณน้ำ (hydration) ในผิวได้ 81.58% ขณะที่ครีมเบสมีผลเพิ่มปริมาณของคอลลาเจน และความชุ่มชื้นของผิวได้ 7.2% และ 25.18% ตามลำดับ (108)
3.6 กันแดด (S008)
สารสกัด 36% เอทานอลจากส่วนเหนือดิน (ตัวอย่างจากประเทศมาเลเซีย) เตรียมโดยการรีฟลักซ์ที่อุณหภูมิ 60oC เป็นเวลา 1 ชม. ความเข้มข้น 0.1, 1.0 และ 10.0%มีฤทธิ์ป้องกันรังสียูวีเอ (UVA)และยูวีบี (UVB)เมื่อทดลองในหลอดทดลองด้วยวิธีวัดการดูดกลืนรังสีของสาร โดยใช้เครื่อง UV-Vis spectrophoto-meter ซึ่งสารสกัดบัวบกความเข้มข้น 10% มีฤทธิ์ป้องกันรังสียูวีได้เท่าเทียบกับสารกันแดด octyl methoxy cinnamate (OMC) และดีกว่าสารสกัดbearberry ที่อุดมด้วยสาร arbutin ซึ่งมีฤทธิ์ป้องกันรังสียูวี (102)
3.7 ต้านการอักเสบ (S014)
สารสกัด 95% เอทานอลจากใบ (ตัวอย่างจากประเทศไทย) เตรียมโดยวิธีการแช่สกัด เป็นเวลา 3 วัน ความเข้มข้น 3-100 มคก./มล. มีฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งไนตริกออกไซด์ (nitric oxide, NO) เมื่อทดสอบในเซลล์ macrophage RAW 264.7 ที่ถูกระตุ้นด้วยสารlipopolysaccharide (LPS)มีค่า IC50เท่ากับ 57.28±7.16 มคก./มล. แต่มีฤทธิ์น้อยกว่าเมื่อเทียบกับยา indomethacin ที่มีค่า IC50 20.32 มคก./มล. (109)
สารสกัด 95% เมทานอลจากใบ (ตัวอย่างจากประเทศเกาหลี) เตรียมโดยการแช่สกัด ที่อุณหภูมิห้อง เป็นเวลา 18 ชม. ความเข้มข้น 50-300 มคก./มล. มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ เมื่อทดสอบในเซลล์ macrophage RAW 264.7 ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบด้วย LPS โดยยับยั้งการสร้าง NO, PGE2,interleukin (IL)-6, IL-1, tumor necrosis factor (TNF)-, ยับยั้งการแสดงออกของเอนไซม์inducible nitric oxide synthase (iNOS) และ COX-2 (110)
สารสกัดจากใบ (ตัวอย่างจาก จ.อุดรธานี) ที่เตรียมโดยการสกัดด้วย 50% เอทานอล (ไม่ระบุวิธีการสกัด) ที่อุณหภูมิห้อง เป็นเวลา 7 วัน ความเข้มข้น 50, 100 และ 200 มคก./มล. มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ เมื่อทดสอบในเซลล์ไมโครเกลีย (BV2 microglial) ที่ถูกเหนี่ยวนำด้วย LPS ซึ่งฤทธิ์จะแปรผันตามความเข้มข้น โดยสารสกัดสามารถยับยั้งการสร้าง NO และลดระดับของ TNF-ซึ่งกลไกการออกฤทธิ์เนื่องมาจากยับยั้งการเคลื่อนที่ของNuclear factor kappa B (NF-B translocation) และยับยั้งการกระตุ้นactivated pro- tein kinase B (Akt) และ extracellular signal-regulated kinase (ERK1/2)pathway (95)
การทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบของสารสกัดน้ำจากใบ ความเข้มข้น 1% ไม่ระบุวิธีการสกัด (ตัวอย่างจากประเทศมาดากัสการ์) ในหลอดทดลองกับชิ้นส่วนผิวหนังของมนุษย์ (human skin explants) โดยใส่สารสกัดปริมาณ 2 มก./ชิ้นส่วนผิวหนัง ในวันที่ 0, 2 และ 5 ของการทดสอบ จากนั้นในวันที่ 5 ทำการฉายรังสีชิ้นส่วนผิวหนังด้วยเครื่อง UV irradiator พบว่าสารสกัดใบบัวบกมีผลลดระดับของสารก่อการอักเสบ IL-1ที่เกิดจากกระตุ้นด้วยรังสีได้ 26% เมื่อเปรียบเทียบกับชิ้นส่วนผิวหนังที่ไม่ได้รับสารสกัด (59)
สารสกัดเมทานอลจากทั้งต้น ไม่ระบุวิธีการสกัด (ตัวอย่างจากประเทศมาเลเซีย)ความเข้มข้น 5 มคก. /มล. มีฤทธิ์อ่อนในการยับยั้ง TNF-, IL-1, IL-1, IL-6 เมื่อทดสอบในเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดนิวเคลียสเดียว (peripheral blood mononuclear cells) ที่ถูกเหนี่ยวนำด้วยสาร LPS (111)
การทดสอบฤทธิ์ของสารสกัด 80% เอทานอล และสารสกัดน้ำจากทั้งต้น (ตัวอย่างจาก จ.เชียงใหม่) ที่เตรียมโดยการกวน(stirring)เป็นเวลา 4 ชม. ในเซลล์mouse macrophage J774.2 พบว่าสารสกัดน้ำ ความเข้มข้น 62.5-1,000 มคก./มล. มีฤทธิ์เพิ่มการสร้าง NO ขณะที่สารสกัด 80% เอทานอลไม่มีผลและเมื่อให้สารสกัดน้ำร่วมกับ LPS จะมีผลเสริมฤทธิ์ของ LPS ในการกระตุ้นการสร้าง NO และเพิ่มการสร้าง TNF-ซึ่งตรงกันข้ามกับสารสกัด 80% เอทานอล ความเข้มข้น 125-1,000 มคก./มล. ที่มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้าง NO และ TNF-และที่ความเข้มข้น 50-400 มคก./มล. มีผลลดการแสดงออกของยีนของเอนไซม์ iNOS และ TNF-จะเห็นว่าบัวบกมีผลทั้งเพิ่มและลดระดับของ NO และ TNF-ที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ (112)
สารสกัด 95% เอทานอลจากทั้งต้น (ตัวอย่างจากประเทศมาเลเซีย) เตรียมโดยการสกัด (ไม่ระบุวิธี) ที่อุณหภูมิ 60 ◦Cเป็นเวลา 8 ชม. ความเข้มข้น 3.91-1,000 มคก./มล. มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ เมื่อทดสอบในเซลล์macrophage RAW264.7 ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบด้วย LPS ซึ่งฤทธิ์จะแปรผันตามความเข้มข้น โดยสารสกัดมีผลยับยั้งการสร้าง NO, PGE2 และ TNF-(IC50 เท่ากับ 5.21±3.13, 264.1±14.2 และ 744± 14.38 มคก./มล. ตามลำดับ) สารสกัดที่ขนาด 1,000 มคก./มล. จะมีฤทธิ์ต้านการอักเสบได้ดีกว่าเมื่อเทียบกับยา dexamethasone ความเข้มข้น 5 ไมโครโมลาร์ (113)
การทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบของสารกลุ่มไตรเทอร์ปีนอยด์และฟลาโวนอยด์ที่แยกได้จากสารสกัดเมทานอลจากใบ (ไม่ระบุแหล่งที่มาของตัวอย่าง) ความเข้มข้น 1, 10 และ 100 ไมโครโมลาร์ ในเซลล์ macro- phageRAW 264.7 ที่ถูกระตุ้นด้วยLPS พบว่าสาร asiatic acid, asiaticoside, asiaticoside G, astragalin, kaempferol, quercetin และ isoquercetin มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้าง NO และTNF- ได้ โดยสารasiaticoside G ความเข้มข้น 100 ไมโครโมลาร์ จะมีฤทธิ์ดีที่สุด สามารถยับยั้งการสร้าง NO และ TNF-ได้ 77.3%และ 69.0% ตามลำดับและมีค่า IC50เท่ากับ 8.4 และ35.3 ไมโครโมลาร์ ตามลำดับ (23)
สารสกัดมาตรฐานบัวบก ซึ่งประกอบด้วย madecassoside 51% และ asiaticoside 38% (ตัวอย่างจากบริษัท Siam Herbal Innovation, ประเทศไทย) ความเข้มข้น 0.1, 1, 10 และ 100 มคก./มล. มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ เมื่อทดสอบในเซลล์macrophage RAW264.7 ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบด้วย LPS โดยยับยั้งการสร้าง NO, PGE2, TNF-และ IL-1ลดการแสดงออกของเอนไซม์ iNOS และ COX-2 และยับยั้งการทำงานของ NF-B, activated protein kinase B (Akt), extracellular signal-regulated kinase (ERK1/2) และ p38 mitogen activated protein kinases (MAPK) signaling pathway (114)
สาร madecassoside (ตัวอย่างจากบริษัท Shanghai inoherb cosmetics, ประเทศจีน)ความเข้มข้น 250 และ 500 ไมโครโมลาร์ มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ เมื่อทดสอบในเซลล์โมโนไซต์ของมนุษย์ (human monocytic cell, THP-1) ที่ถูกกระตุ้นให้เกิดการอักเสบด้วยเชื้อ P. acnes โดยมีผลยับยั้งการหลั่งIL-1, ลดการแสดงออกของ Toll-like receptor2 (TLR2) และยับยั้งการเคลื่อนที่เข้าสู่นิวเคลียสของ NF-B (42)
สาร madecassic acid และ madecassoside จากใบ(ไม่ระบุแหล่งที่มา) ความเข้มข้น 50, 100 และ 150 มคก./มล. มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ เมื่อทดสอบในเซลล์macrophage RAW 264.7 ที่ถูกระตุ้นด้วย LPS โดยยับยั้งการสร้าง NO,PGE2, TNF-, IL1และ IL-6ซึ่งสาร madecassic acid จะมีฤทธิ์ดีกว่า madecassoside นอกจากนี้สาร madecassic acid ยังมีฤทธิ์ยับยั้งการแสดงออกของยีนของเอนไซม์iNOS และ COX2 และยับยั้งการกระตุ้น NF-B signal pathway (29)
การทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบของสาร asiatic acid (ตัวอย่างจากบริษัท Sigma-Aldrich) ความเข้มข้น 20, 30 และ 40 ไมโครโมลาร์ ในเซลล์macrophageRAW264.7 ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบด้วย LPS พบว่าสาร asiatic acid มีผลลดระดับของ IL-1, IL-6, TNF-,NO, ลดการแสดงออกของเอนไซม์ iNOS, ยับยั้งการกระตุ้น NF-Bsignaling pathway และ Notch signaling pathway ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการอักเสบในเซลล์ (24)
การทดสอบในเซลล์บุผนังหลอดเลือดแดงของมนุษย์ (human aortic endothelial cells) เมื่อให้สาร asiatic acid (ตัวอย่างจากบริษัท ChromaDex, ประเทศสหรัฐอเมริกา) ความเข้มข้น 10-40 ไมโครโม-ลาร์ เป็นเวลา 6 ชม. ก่อนเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบด้วย TNF-พบว่าasiatic acid มีฤทธิ์ต้านการอักเสบได้ โดยลดการแสดงออกของ soluble E selectin (sE-selectin), soluble intercellular adhesion mole-cule-1 (sICAM-1), soluble vascular cell adhesion molecule-1 (sVCAM-1) และ soluble platelet endothelial cell adhesion molecule-1 (sPECAM-1) ซึ่งเกี่ยวข้องกับกระบวนการอักเสบแต่ไม่มีผลต่อการยึดเกาะของเซลล์เม็ดเลือดขาว U937 กับเซลล์บุผนังหลอดเลือดนอกจากนี้ยังมีผลยับยั้งการกระตุ้นNF-B (25)
เมื่อป้อนหนูแรทด้วยสารสกัดเมทานอลจากใบ ไม่ระบุวิธีการสกัด (ตัวอย่างจากประเทศอินเดีย) ขนาด 100 และ 200 มก./กก. ก่อนเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบที่อุ้งเท้าด้วย 1% คาราจีแนน เปรียบเทียบผลกับหนูที่ได้รับยาindomethacin ขนาด 10 มก./กก. พบว่าสารสกัดทั้ง 2 ขนาด มีฤทธิ์ลดอาการบวมของอุ้งเท้าหนูได้โดยสารสกัดขนาด 200 มก./กก. มีฤทธิ์ต้านการอักเสบได้สูงสุด ที่เวลา 2 ชม. หลังการทดสอบสามารถลดการบวมได้ 48.06% แต่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับยา indomethacin (61.97%) (115)
การศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบของสารสกัดน้ำจากใบ (ไม่ระบุแหล่งที่มา) ซึ่งเตรียมด้วยวิธีการต้มโดยป้อนหนูแรทด้วยสารสกัด ขนาด 0.8, 2.0 และ 3.2 ก./กก. เป็นเวลา 1 ชม. ก่อนเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบที่อุ้งเท้าด้วยคาราจีแนนพบว่าสารสกัดสามารถยับยั้งการบวมของอุ้งเท้าหนูได้ โดยสารสกัดที่ความเข้มข้น 2.0 และ 3.2 ก./กก.มีเปอร์เซ็นต์ยับยั้งการบวม(% edema inhibition) ไม่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญจากสารมาตรฐาน prednisolone acetate ขนาด 2 มก./กก. โดยยับยั้งได้ 65.23±6.51, 93.25±5.04 และ 74.33±13.52% ตามลำดับ (116)
การศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบของสารสกัดน้ำและสารสกัดเอทานอลจากใบและดอก (ตัวอย่างจากประเทศอินเดีย: voucher No. ncp/6/2006) ที่เตรียมโดยวิธีการเขย่า (shaking) ตัวอย่างในน้ำหรือเอทา-นอล เป็นเวลา 4 วัน โดยป้อนหนูแรทด้วยสารสกัด ขนาด 100 มก./กก. เป็นเวลา 1 ชม. ก่อนเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบที่อุ้งเท้าด้วย 1% คาราจีแนนเปรียบเทียบกับยา ibuprofen ขนาด 100 มก./กก. พบว่าสารสกัดทั้ง 2 ชนิด สามารถยับยั้งการบวมของอุ้งเท้าหนูได้ โดยสารสกัดเอทานอลจะมีฤทธิ์ใกล้เคียงกับยาibuprofen (เปอร์เซ็นต์ยับยั้งการบวมของสารสกัดน้ำ สารสกัดเอทานอล และยา ibuprofen มีค่าเท่ากับ 46.31, 71.18และ 66.66% ตามลำดับ) (117)
การศึกษาในหนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบด้วยการฉีด LPS เข้าทางช่องท้อง เมื่อป้อนสารสกัด 95% เอทานอลจากทั้งต้น (ตัวอย่างจากประเทศมาเลเซีย) เตรียมโดยการสกัด (ไม่ระบุวิธี) ที่อุณหภูมิ 60 ◦C เป็นเวลา 8 ชม. ขนาด 250, 300 และ 350 มก./กก.เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยา rivastigmine ขนาด 5 มก./กก. พบว่าสารสกัดที่ขนาด 300 และ 350 มก./กก. มีผลต้านการอักเสบได้ โดยลดระดับของ PGE2และ TNF-ในเลือดของหนู (113)
เมื่อป้อนหนูแรทด้วยสาร asiaticoside (ตัวอย่างจากบริษัท Guangxi Changzhou Natural Products Development, ประเทศจีน) ขนาด 3, 10 และ 30 มก./กก. ก่อนเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบด้วยการฉีดสาร LPS เข้าทางช่องท้อง พบว่า asiaticoside มีฤทธิ์ต้านอักเสบ โดยยับยั้งการแสดงออกของเอนไซม์ COX-2และยับยั้งการสร้าง PGE2 ในเนื้อเยื่อสมอง ลดระดับของ TNF-, IL-6 ในเลือด ลดระดับของเอนไซม์ myeloperoxidase ในตับ เพิ่มระดับของ IL-10 ในเลือดและเพิ่มระดับของเอนไซม์heme oxygenase-1 ในตับ (38)
การศึกษาในหนูเม้าส์ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดข้ออักเสบด้วยการฉีดคอลลาเจน (bovine type II colla-gen) เมื่อป้อนสาร madecassoside (ตัวอย่างจากบริษัท Guangxi Changzhou Natural Products Development, ประเทศจีน) ขนาด3, 10 และ 30 มก./กก. เป็นเวลา 22 วัน หลังจากเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบ พบว่าสารmadecassoside มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ โดยยับยั้งการแสดงออกของเอนไซม์ COX-2 และยับยั้งการสร้าง PGE2ในเนื้อเยื่อข้อต่อ(synovial tissues) แต่ไม่มีผลต่อเอนไซม์ COX-1นอกจากนี้ยังมีผลลดระดับของ TNF-, IL-6 และเพิ่มระดับของ IL-10 ในเลือด (43)
การศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบของสาร asiatic acid (ตัวอย่างจากบริษัท Sigma®, ประเทศสหรัฐ อเมริกา) ในหนูเม้าส์ โดยฉีดสาร asiatic acid ขนาด 1, 5 และ 10 มก./กก. เข้าทางช่องท้องของหนู เป็นเวลา 30 นาที ก่อนเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบที่อุ้งเท้าด้วย 1% คาราจีแนน เปรียบเทียบผลกับกลุ่มควบคุมและกลุ่มที่ได้รับยา indomethacin ขนาด 10 มก./กก. พบว่าสาร asiatic acid ขนาด 5 และ 10 มก./กก.มีฤทธิ์ต้านการอักเสบได้ โดยสามารถลดอาการบวมของอุ้งเท้าหนูได้หลังจาก 4 และ 5 ชม. ของการทดสอบ ลดระดับของ NO, TNF-, IL-1ในเลือด ลดระดับของ malondialdehyde และเพิ่มระดับของเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการต้านอนุมูลอิสระ ได้แก่ catalase, superoxide dismutase, และ glutathione peroxidase ในตับของหนู สาร asiatic acid ที่ขนาด 10 มก./กก. มีฤทธิ์ลดการแสดงออกของเอนไซม์ iNOS, COX-2, โปรตีน NF-B และลดการเคลื่อนของเม็ดเลือดขาว(neutrophil infiltration) ไปยังบริเวณที่อักเสบได้เช่นเดียวกับยา indomethacin (26)
การศึกษาในหนูเม้าส์ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบด้วยฉีด LPS เข้าทางช่องท้อง พบว่าสาร asiatic acid (ตัวอย่างจากบริษัท Sigma-Aldrich®) ขนาด 10 และ 30 มก./กก. สามารถต้านการอักเสบได้โดยมีผลลดระดับของ IL-1และ IL-6 ในเลือดของหนู (24)
การศึกษาผลต้านการอักเสบของขี้ผึ้ง 1% Madecassol®ซึ่งประกอบด้วยสาร asiatic acid, made-cassic acid และ asiaticoside จากบัวบก(ตัวอย่างจากประเทศฝรั่งเศส) ในหนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบของผิวหนังจากการฉายรังสีโดยทาขี้ผึ้งขนาด 16 มก./ตร.ซม./วัน บริเวณผิวหนังที่ถูกรังสี เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ให้ทาเจล 0.1% tetrandrine ขนาด 1.6 มก./ตร.ซม.และกลุ่มควบคุมที่ให้ทาวาสลีน ขนาด 16 มก./ตร.ซม. พบว่าขี้ผึ้ง 1% Madecassol® และเจล 0.1% tetrandrineสามารถลดการอักเสบของผิวหนังจากการฉายรังสีได้ เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม (27)
3.8 รักษาแผล (S015)
การทดสอบฤทธิ์รักษาแผลของสารสกัดน้ำจากใบ (ตัวอย่างจากประเทศมาเลเซีย) เตรียมโดยการ รีฟลักซ์ที่อุณหภูมิ 40 oC เป็นเวลา 3 ชม.ความเข้มข้น 7.8, 15.6, 31.2,62.5 และ125 ppm ในเซลล์เยื่อบุผิวกระจกตาของกระต่ายด้วยวิธี scratch assay ซึ่งเป็นวิธีการสร้างแผลบนโมโนเลเยอร์ของเซลล์ โดยใช้ไมโครปิเปตต์ทิป (micropipette tip) ขูดให้เกิดแผลจำลองประเมินผลโดยวัดการเคลื่อนย้ายของเซลล์ (migration) ไปยังบริเวณแผล พบว่าสารสกัดที่ความเข้มข้นต่ำ (7.8-62.5 ppm) มีผลทำให้การเคลื่อนย้ายของเซลล์เพิ่มขึ้นมากกว่า และแผลหายสนิทภายใน 2 วัน เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม ขณะที่สารสกัดความเข้มข้นสูง (125 ppm) จะให้ผลไม่แตกต่างจากกลุ่มควบคุม (118)
สารสกัดจากบัวบก ไม่ระบุส่วนที่ใช้ (ตัวอย่างจากประเทศโปแลนด์) ซึ่งสกัดด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (ultrasound-assisted extraction) โดยใช้ตัวทำละลายผสมระหว่างน้ำและกลีเซอรีน (อัตราส่วน 80:20) ที่อุณหภูมิห้อง เป็นเวลา 48 นาที ความเข้มข้น 0.5%-5.0% มีฤทธิ์รักษาแผล เมื่อทดสอบด้วยวิธี scratch assay ในเซลล์ keratinocytes (HaCaT) และfibroblasts (BJ fibroblasts) ของคนโดยมีผลกระตุ้นการเคลื่อนย้ายของเซลล์ทั้ง 2 ชนิด ไปยังบริเวณแผล (105)
สารสกัดจากบัวบก ไม่ระบุส่วนที่ใช้ (ตัวอย่างจากประเทศมาเลเซีย) ซึ่งสกัดด้วยสารละลาย phos-phate buffered saline โดยการกวนด้วยเครื่อง magnetic stirrer เป็นเวลา 12 ชม. ความเข้มข้น 7.81 และ 194.15 มคก./มล. มีฤทธิ์รักษาแผลเป็นคีลอยด์ เมื่อทดสอบในเซลล์ human dermal fibroblasts ด้วยวิธีscratch assay ซึ่งสารสกัดที่ความเข้มข้น 194.15 มคก./มล. มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโต และการเคลื่อนย้ายของเซลล์นอกจากนี้ยังยับยั้งการแสดงออกของยีนของ คอลลาเจนชนิดที่ 1 และ 3, fibronectin และsmooth muscle actin alpha (SMAA) 2 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเกิดแผลเป็นคีลอยด์ (119)
การศึกษาฤทธิ์รักษาแผลของสารสกัดเฮกเซน, เอทิลอะซีเตท, เมทานอล และน้ำจากส่วนเหนือดิน (ตัวอย่างจากประเทศไทย) เตรียมโดยการแช่สกัด ทดสอบในหนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดแผลจากการกรีด (incision wound) และแผลไหม้ระดับ 2 (partial-thickness burn wounds) โดยกลุ่มที่มีแผลกรีดจะให้ทาสารสกัด ขนาด 0.5 มล. บริเวณแผล วันละครั้ง เป็นเวลา 7 วัน และกลุ่มที่มีแผลไหม้จะให้ทาสารสกัด ขนาด 0.5 มล. บริเวณแผล วันละครั้ง เป็นเวลา 14 วัน พบว่าสารสกัดจากบัวบกทุกชนิด มีผลในการรักษาแผลกรีดและแผลไหม้ได้ เมื่อเทียบกับหนูในกลุ่มควบคุม เมื่อวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีด้วยวิธี TLC พบว่าสาร สำคัญหลักในสารสกัดเฮกเซน, เอทิลอะซีเตท และเมทานอล คือ -sitosterol, asiatic acid, asiaticoside, และ madecassocide แต่ไม่พบสารเหล่านี้ในสารสกัดน้ำ (20)
การศึกษาในหนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดแผลไหม้ระดับ 2 โดยแบ่งออกเป็น กลุ่มที่ให้ทาสาร asiati-coside หรือ madecassoside (ตัวอย่างจากบริษัท Sigma-Aldrich®, ประเทศจีน)ขนาด 500 มคล. บริเวณแผล วันละครั้ง เป็นเวลา 14 วัน เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมและกลุ่มที่ให้ทาวาสลีน พบว่าสาร asiaticoside และmadecassoside สามารถรักษาแผลไหม้ได้ โดยมีเปอร์เซ็นต์การหายของแผล (% degree of wound healing) เท่ากับ 73.1±1.51และ 51.7±2.44% ตามลำดับ ซึ่งจะให้ผลดีกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ให้ทาวาสลีนและกลุ่มควบคุม (39±1.38 และ28±2.3% ตามลำดับ) (34)
การศึกษาในหนูเม้าส์ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดแผลไหม้ระดับ 3(full thickness burn wound) ซึ่งแบ่งออกเป็น กลุ่มที่ป้อนสาร asiaticoside และ madecassoside (ตัวอย่างจากประเทศจีน) ขนาด 6, 12, 24 มก./กก. กลุ่มที่ป้อนสาร asiatic acid และ madecassic acid (ตัวอย่างจากประเทศจีน) ขนาด 3, 6, 12 มก./กก. เป็นเวลา 14 วัน และกลุ่มควบคุม พบว่าasiaticoside และ madecassoside มีฤทธิ์รักษาแผลได้ดีกว่าasiatic acid และ madecassic acid และสาร madecassoside มีผลรักษาแผลได้ดีและหายเร็วกว่า asiaticosideสำหรับการทดสอบในเซลล์ human skin fibroblasts พบว่าสาร asiaticoside, madecasso-side, asiatic acid และ madecassic acid ความเข้มข้น 1, 3, 10 ไมโครโมลาร์ ไม่มีผลเพิ่มการแบ่งตัวของเซลล์ (cell proliferation) สาร asiaticoside และ madecassoside ที่ความเข้มข้น 3, 10 ไมโครโมลาร์ มีฤทธิ์กระตุ้นการสร้างคอลลาเจนชนิดที่ 1 และ 3 โดยเพิ่มการแสดงออกของยีนและระดับของโปรตีน pro-collagen ชนิดที่ 1 และ 3 ในเซลล์ ซึ่งสารmadecassoside จะมีฤทธิ์ดีกว่า asiaticosideขณะที่สารasiatic acid และ madecassic acid ไม่มีผล นอกจากนี้สารasiaticoside และ madecassoside ยังมีผลต่อ trans-forming growth factor (TGF)-/Smad signaling pathway ซึ่งเกี่ยวข้องกับการสร้างคอลลาเจนโดยเพิ่มการแสดงออกของ TGF-1, TRII และลดการแสดงออกของ Smad 7 (35)
เมื่อป้อนหนูเม้าส์ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดแผลไหม้ด้วยสาร madecassoside (ตัวอย่างจากประเทศจีน) ขนาด 6, 12, 24 มก./กก. เป็นเวลา 20 วันพบว่าขนาดของแผลลดลงได้ในวันที่ 10 และ 15 และแผลเกือบหายสนิทดี ในวันที่ 20 ของการรักษา เมื่อเทียบกับหนูในกลุ่มควบคุม โดยสารmadecassoside มีผลยับยั้ง การแทรก (infiltration) ของเซลล์ก่อการอักเสบเพิ่มการสร้างเนื้อเยื่อบุผิว (epithelialization) โดยเพิ่มการแบ่งตัวของเซลล์ fibroblast และ granulation tissue ลดระดับของไนตริกออกไซด์, malondialdehyde เพิ่มระดับของ reduced glutathione และ hydroxyprolineซึ่งเกี่ยวข้องกับการสร้างคอลลาเจนในเนื้อเยื่อ
นอกจากนี้ยังมีผลในการสร้างหลอดเลือดใหม่ (angiogenesis) ของผิว (40)
การศึกษาผลของบัวบกต่อการหายของแผล, อัตราการไหลเวียนเลือด และการทำงานของเซลล์บุผนังหลอดเลือด(endothelial cells) ในหนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดแผลไหม้ระดับ 2 โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มควบคุม กลุ่มแผลไหม้ที่ทาน้ำเกลือความเข้มข้น 0.9% และกลุ่มแผลไหม้ที่ทาครีมสารสกัดบัวบกความเข้มข้น 7% (ตัวอย่างจากสถาบันวิจัยและพัฒนา องค์การเภสัชกรรม) ซึ่งเตรียมโดยนำส่วนก้าน ใบ และลำต้นของบัวบกมาสกัดด้วยการแช่ใน 95% เอทานอล จากนั้นนำสารสกัดไปผสมกับครีมเบส โดยทาน้ำเกลือหรือครีมสารสกัดบัวบกบริเวณแผล วันละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 7 วัน ประเมินผลจากค่าร้อยละการหายของแผล วัดอัตราการไหลเวียนเลือดด้วยวิธี Laser doppler flowmetry และวิเคราะห์การทำงานของเซลล์บุผนังหลอดเลือด โดยวัดการเกาะติดของเม็ดเลือดขาวบนเซลล์บุผนังหลอดเลือด และการรั่วซึมของสารออกนอกหลอดเลือดดำขนาดเล็กด้วยวิธี intravital fluorescence microscopic พบว่าสารสกัดบัวบกมีฤทธิ์ช่วยเร่งการหายของแผล โดยมีร้อยละการหายของแผล ในวันที่ 3, 5 และ 7 หลังจากเกิดแผลไหม้ มากกว่าหนูที่ทาน้ำเกลืออย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ สารสกัดบัวบกมีผลเพิ่มอัตราการไหลเวียนเลือดที่ผิวหนัง และช่วยฟื้นฟูการทำงานของเซลล์บุผนังหลอดเลือด โดยลดการเกาะติดของเซลล์เม็ดเลือดขาวบนเซลล์บุผนังหลอดเลือดและลดการรั่วซึมของสารออกนอกหลอดเลือดดำขนาดเล็กที่ผิวหนัง เมื่อเทียบกับหนูที่ทาน้ำเกลือ แสดงว่าครีมสารสกัดบัวบกมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ และกระตุ้นการเกิดใหม่ของหลอดเลือด ทำให้ช่วยฟื้นฟูการทำงานของเซลล์บุผนังหลอดเลือด และเพิ่มอัตราการไหลเวียนเลือด เป็นผลให้เร่งกระบวนการหายของแผลได้ (120)
การศึกษาฤทธิ์ของเจลสารสกัดมาตรฐานบัวบก ไม่ระบุวิธีการสกัด (ตัวอย่างจากประเทศไทย)ในหนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดแผลจากการกรีด โดยแบ่งออกเป็น กลุ่มที่ไม่ได้รับสารทดสอบใดๆ กลุ่มที่ได้รับเจลที่ไม่มีสารทดสอบและกลุ่มที่ได้รับเจลสารสกัดบัวบก0.05% โดยให้ทาแผลวันละครั้งๆ ละ 100 มก. พบว่าลักษณะภายนอกของแผลในหนูทั้ง 3 กลุ่มจะคล้ายคลึงกันในวันที่3 หลังการเกิดแผล แต่เมื่อประเมินความแข็งแรงของแผลโดยการวัดค่าแรงดึงสูงสุด (tensile strength)ที่ทำให้แผลแยกจากกันด้วยเครื่องtensio-meter และประเมินความหนาของชั้นหนังกำพร้าด้วยวิธีการทางเนื้อเยื่อวิทยาพบว่ากลุ่มที่ทาเจลสารสกัดบัวบก0.05% มีค่าแรงดึงสูงสุด (5.33±1.77 นิวตัน/ตร.ซม.) และความหนาของชั้นหนังกำพร้า (158.13± 11.38 ไมครอน) สูงกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับสารทดสอบใดๆ และกลุ่มที่ได้รับเจลที่ไม่มีสารทดสอบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (121)
การศึกษาฤทธิ์รักษาแผลของสเปรย์ที่มีส่วนผสมของสารสกัดเมทานอลจากส่วนเหนือดิน ความเข้มข้น 1% (ตัวอย่างจาก จ.สงขลา; voucher No. SKP199030101) เตรียมสารสกัดโดยสกัดด้วยเครื่อง soxhlet apparatus เป็นเวลา 12 ชม.จากนั้นนำมาเตรียมให้อยู่ในรูปของสารประกอบเชิงซ้อนด้วย hydroxypropyl--cyclodextrin เพื่อเพิ่มการละลายของสารสกัด แล้วนำมาเป็นส่วนผสมในตำรับสเปรย์ทำการทดสอบฤทธิ์ในหนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดแผลแบบแผลถูกตัด (excision wound) โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ได้รับสเปรย์สารสกัดบัวบก โดยฉีดสเปรย์บริเวณแผล ครั้งละประมาณ 2.5 มล. วันละครั้ง เป็นเวลา 14 วัน กลุ่มที่ได้รับยา Betadine®โดยให้ทาวันละครั้ง เป็นเวลา 14 วัน และกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับการรักษา พบว่าสเปรย์สารสกัดบัวบกมีผลในการรักษาแผลได้ แผลหายดีหลังจาก 14 วันของการรักษา และไม่ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิว แต่ประสิทธิภาพจะน้อยกว่าเมื่อเทียบกับยา Betadine®เมื่อศึกษาสารสำคัญในสารสกัด เมทานอล พบว่าประกอบด้วย asiatic acid 0.12%, madecassic acid 0.54%, asiaticoside 0.25% และ madecassoside 1.02% (21)
ไฮโดรเจล (hydrogel) ซึ่งมีส่วนผสมของสารสกัดบัวบก1% (titrated extractประกอบด้วย asia-ticoside 40.4%, asiatic acid และ madecassic acid 57.2%; ตัวอย่างจากบริษัท Dong-Kook Pharma-ceutical; ประเทศเกาหลี) เมื่อนำมาทดสอบฤทธิ์รักษาแผลในหนูแรท พบว่ามีผลลดขนาดของแผลที่ผิวหนังของหนูได้ภายใน 9 วัน (22)
ไฮโดรเจลที่มีส่วนสกัดด้วยเมทานอลจากส่วนเหนือดินของบัวบกเป็นส่วนผสม (ตัวอย่างจากประเทศมาเลเซีย; voucher specimen No. PIIUM0205)เมื่อนำมาทดสอบฤทธิ์รักษาแผลในกระต่ายที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดแผลกรีดที่หลัง โดยแบ่งกระต่ายออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ให้ทาไฮโดรเจลส่วนสกัดจากบัวบก, กลุ่มที่ให้ทาครีม Madecassol®(ครีมรักษาแผลที่มีส่วนผสมของสารสกัดไตรเทอร์ปีนส์จากบัวบก), กลุ่มที่ได้รับไฮโดรเจลที่ไม่มีส่วนสกัดจากบัวบก และกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับการรักษา โดยให้ทาวันละครั้ง เป็นเวลา 12 วัน พบว่าไฮโดรเจลส่วนสกัดจากบัวบกไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังของกระต่าย และมีผลในการรักษาแผลได้เร็วกว่าครีมMadecassol®15% และ >40% เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม (122)
3.9 ต้านการแพ้ (S016)
การศึกษาฤทธิ์ต้านการแพ้ของสารสกัดน้ำและสารสกัดเอทานอลจากใบและดอก (ตัวอย่างจากประเทศอินเดีย: voucher No. ncp/6/2006) ที่เตรียมโดยวิธีการเขย่า (shaking) ตัวอย่างในน้ำหรือเอทา-นอล เป็นเวลา 4 วัน ทดสอบในหนูแรทด้วยวิธี sheep serum method โดยแบ่งออกเป็น กลุ่มควบคุม, กลุ่มที่ป้อนสารสกัดทั้ง 2 ชนิด ขนาด 100 มก./กก. และกลุ่มที่ได้รับยาแก้แพ้ ketotifen fumarate ขนาด 1 มก./กก. เป็นเวลา 14 วัน จากนั้นทำการแยกเอาส่วนเยื่อแขวนลำไส้เล็ก (intestinal mesentery) ของหนู มาทดสอบฤทธิ์ในหลอดทดลองโดยเหนี่ยวนำให้เกิดการแพ้ด้วย 5% sheep serum และการทดสอบด้วยวิธีcompound 48/80 induced mast cell degranulation ซึ่งแบ่งหนูออกเป็น กลุ่มควบคุม, กลุ่มที่ป้อนสารสกัดทั้ง 2 ชนิด ขนาด 100 มก./กก. และกลุ่มที่ได้รับยาแก้แพ้ ketotifen fumarate ขนาด 1 มก./กก.จากนั้นนำเอา peritoneal mast cellsของหนู มาทดสอบในหลอดทดลองโดยเหนี่ยวนำให้เกิดการแตกตัวของแกรนูลที่อยู่ใน mast cell (mast cell degranulation) ด้วยสาร compound 48/80 พบว่าสารสกัดบัวบกทั้ง 2 ชนิด มีผลต้านการแพ้ได้ โดยสามารถยับยั้งการแตกตัวของแกรนูลที่อยู่ใน mast cell ได้ดีกว่ายาketotifen fumarate ในการทดสอบทั้ง 2 วิธี (117)
การศึกษาทางพิษวิทยาและความปลอดภัย
การทดสอบความเป็นพิษ
การศึกษาพิษเฉียบพลันของสารสกัดบัวบก ไม่ระบุส่วนที่ใช้และวิธีการสกัด (ตัวอย่างจากประเทศไทย) ในหนูเม้าส์ทั้ง 2 เพศ โดยป้อนสารสกัด ขนาด 10 ก./กก. พบว่าไม่ทำให้เกิดพิษเฉียบพลัน และไม่ทำให้หนูตาย สำหรับการศึกษาพิษกึ่งเรื้อรัง เมื่อให้สารสกัดบัวบก ขนาด 10, 100 และ 1,000 มก./กก. เป็นเวลา 90 วันไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในเรื่องของน้ำหนักตัว การกินอาหาร พฤติกรรม ค่าทางโลหิตวิทยา ค่าชีวเคมีในเลือด และลักษณะทางจุลพยาธิวิทยาของอวัยวะภายใน เมื่อเทียบกับหนูในกลุ่มควบคุมที่ได้รับน้ำกลั่น ยกเว้นหนูเพศเมียที่ได้รับสารสกัด ขนาด 1,000 มก./กก. จะมีปริมาณเม็ดเลือดขาวสูงกว่ากลุ่มควบคุม และหนูเพศผู้ที่ได้รับสารสกัด ขนาด 1,000 มก./กก. มีระดับโซเดียมสูงกว่ากลุ่มควบคุม แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ (123)
การศึกษาพิษเฉียบพลันของบัวบก (ตัวอย่างจาก จ.นครปฐม; voucher specimen No.Bansiddhi 46-1) โดยการกรอกน้ำยาแขวนตะกอนผงบัวบก ความเข้มข้น 1:5 ทางปากแก่หนูเม้าส์ พบว่าขนาดของผงบัวบกที่ทำให้หนูตายร้อยละ 50 (LD50) มีค่ามากกว่า 8 ก./กก. และไม่พบความผิดปกติทางจุลพยาธิวิทยาของเนื้อเยื่ออวัยวะภายในที่เกิดจากบัวบก ในการศึกษาพิษเรื้อรังในหนูแรทที่แบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 กลุ่มควบคุมที่ได้รับน้ำ กลุ่มที่ 2-5 กลุ่มทดลองที่ได้รับผงบัวบกโดยการกรอกทางปาก ขนาด 20, 200, 600 และ 1,200 มก./กก./วัน เป็นเวลา 6 เดือน และกลุ่มที่ 6 กลุ่ม recovery ที่ได้รับผงบัวบก ขนาด 1,200 มก./กก. นาน 6 เดือนเช่นกัน แล้วหยุดให้บัวบกเป็นเวลา 2 สัปดาห์ก่อนเจาะเลือด พบว่ากลุ่มที่ได้รับผงบัวบกทุกขนาด มีน้ำหนักตัว การกินอาหาร และสุขภาพไม่แตกต่างจากกลุ่มควบคุม หนูเพศผู้ในกลุ่มที่ได้รับบัวบกขนาด 600 และ 1,200 มก./กก. มีจำนวนเม็ดเลือดขาวต่ำกว่ากลุ่มควบคุม อย่างไรก็ตามจำนวนเม็ดเลือดขาวจะเพิ่มขึ้น เมื่อหยุดให้บัวบกขนาดสูงเป็นเวลา 2 สัปดาห์ หนูเพศผู้ที่ได้รับบัวบกขนาด 600 และ 1,200 มก./กก. มีระดับโซเดียมและคลอไรด์สูงกว่ากลุ่มควบคุม และหนูเพศเมียที่ได้รับบัวบกขนาด 1,200 มก./กก.มีระดับโซเดียมสูงกว่ากลุ่มควบคุมเช่นกัน แต่การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ยังคงอยู่ในช่วงค่าปกติ ผลการตรวจทางจุลพยาธิวิทยาของเนื้อเยื่ออวัยวะต่างๆ ไม่พบการเปลี่ยนแปลงที่บ่งชี้ถึงความเป็นพิษของบัวบก แสดงว่าผงบัวบกไม่ก่อให้เกิดความเป็นพิษต่อหนูแรท (124)
การศึกษาพิษเฉียบพลันของสารสกัดมาตรฐานจากใบ ซึ่งมีสาร asiaticoside 45.74% (ตัวอย่างจากประเทศอินเดีย) ในหนูแรท โดยป้อนสารสกัด ขนาด 2,000 มก./กก. พบว่าไม่ทำให้เกิดพิษแบบเฉียบพลันใดๆ และไม่ทำให้หนูตาย ดังนั้นค่า LD50ของสารสกัด มีค่ามากกว่า 2,000 มก./กก. ในการศึกษาพิษกึ่งเรื้อรัง โดยป้อนสารสกัด ขนาด 250, 500 และ 1,000 มก./กก. เป็นเวลา 90 วัน พบว่าไม่ทำให้หนูตายและไม่ก่อให้ เกิดพิษ สารสกัดไม่มีผลต่อการกินอาหาร และน้ำหนักตัวของหนู เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม ไม่มีผลต่อค่าทางโลหิตวิทยา ค่าชีวเคมีในเลือด และไม่พบความผิดปกติของอวัยวะภายใน ซึ่งขนาดสูงที่สุดของสารสกัดที่ได้รับทุกวันแล้วไม่ทำให้เกิดความเป็นพิษหรือผลเสียใดๆ ต่อร่างกาย (no observed adverse effect level; NOAEL) คือ 1,000 มก./กก. (125)
การศึกษาพิษเฉียบพลันของสารสกัดเอทานอลจากทั้งต้น (ตัวอย่างจากประเทศอินเดีย; voucher specimen no. Apia/02/2015) เตรียมโดยการสกัดด้วยเครื่อง soxhlet apparatus ที่อุณหภูมิ 72-82oC เป็นเวลา 72 ชม. ขนาด 300, 600, 1,200 และ2,000 มก./กก. พบว่าไม่ก่อให้เกิดพิษเฉียบพลันและไม่ทำให้หนูตาย การศึกษาพิษกึ่งเฉียบพลันโดยป้อนสารสกัด ขนาด 300, 600, 1,200 และ 2,000 มก./กก.เป็นเวลา 28 วัน พบว่าสารสกัดไม่ทำให้หนูตาย ไม่มีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของค่าทางโลหิตวิทยา และค่าชีวเคมีในเลือด และไม่ทำความผิดปกติของอวัยวะภายในของหนู (126)
สารสกัด 50% เอทานอลจากใบ ไม่ระบุวิธีการสกัด (ตัวอย่างจากประเทศไทย) ขนาด 10 ก./กก. ไม่พบความเป็นพิษเมื่อป้อนหรือฉีดเข้าใต้ผิวหนังของหนูเม้าส์ (127)
เมื่อป้อนหนูเม้าส์ด้วยสารสกัดคลอโรฟอร์มและสารสกัดเมทานอลจากส่วนเหนือดินและใบ ไม่ระบุวิธีการสกัด (ตัวอย่างจากประเทศอินเดีย) ขนาด 250, 500 และ 1,000 มก./กก. พบว่าไม่ทำให้หนูตาย และไม่มีผลต่อพฤติกรรมของหนู (115)
พิษต่อเซลล์
การทดสอบความเป็นพิษของสารสกัดเอทานอลจากใบ (ตัวอย่างจากประเทศอินเดีย) ที่เตรียมโดยการสกัดด้วยเครื่อง soxhlet apparatus ในเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดนิวเคลียสเดียว (peripheral blood mono-nuclear cells) และเซลล์เม็ดเลือดแดงพบว่าค่าความเข้มข้นของสารสกัดที่ทำให้เซลล์ตายร้อยละ 50 (LD50) เท่ากับ 69.17±3.2 และ 476.19±5.9 มคก./มล. ตามลำดับ (13)
ข้อห้ามใช้
ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่แพ้สมุนไพรในวงศ์ Apiaceae (Umbelliferae) (128)
ข้อควรระวัง
มีรายงานการเกิดเนื้องอกที่ผิวหนังของหนูที่ทา asiaticoside 0.1% (129) แต่ยังไม่มีการศึกษาเพิ่มเติมในคน จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน
อาการไม่พึงประสงค์
บัวบกสดหรือแห้ง อาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังได้ (130, 131) มีรายงานการแพ้และอักเสบต่อผิวหนังของคน เมื่อใช้ขี้ผึ้ง Madecassol® ที่ประกอบด้วยสาร asiatic acid, madecassic acid และ asiaticoside จากบัวบก (132, 133) มีรายงานในผู้หญิง 3 ราย ที่เกิดภาวะตับอักเสบหลังจากที่รับประทานยาเม็ดบัวบกเพื่อควบคุมน้ำหนักเป็นเวลา 30, 20 และ 60 วันตามลำดับ ซึ่งความผิดปกติจะดีขึ้นเมื่อผู้ป่วยหยุดใช้ยาเม็ดบัวบกและได้รับ ursodeoxycholic acid ขนาด 10 มก./กก./วัน (134)
ขนาดที่แนะนำ (ข้อมูลจากการศึกษาทางคลินิก)
เจลที่มีสารสกัดไฮโดรกลีเซอรินจากใบบัวบก 5% (Centella asiatica hydroglycerin extract) ในการทดสอบให้ทาเฉพาะบริเวณที่เป็นสิววันละ 2 ครั้งตอนเช้าและเย็น เป็นเวลา 12 สัปดาห์ พบว่ามีประสิทธิภาพในการต้านสิวบนผิวหน้าได้ (56)
ครีมที่มีสารสกัดจากใบบัวบก (ไม่ระบุชนิดของสารสกัดและความเข้มข้นที่ใช้ในผลิตภัณฑ์) มีประสิทธิภาพในการลดริ้วรอยรอบดวงตา ในการทดสอบทาครีมวันละ 2 ครั้ง ตอนเช้าและก่อนนอน ต่อเนื่องกันเป็นเวลา 12 สัปดาห์ (57)
ครีมที่มีสาร asiaticoside 0.1% ซึ่งเป็นสารสำคัญในบัวบก สามารถลดเลือนริ้วรอยรอบดวงตาได้ ในการทดสอบให้ทาครีม ขนาด 0.1 ก. วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 12 สัปดาห์ (31)
ครีมที่มีสารสกัดไตรเทอร์ปีนจากบัวบกเป็นส่วนประกอบ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้และความเข้มข้นที่ใช้ในผลิตภัณฑ์) ในการทดสอบให้ทาบริเวณหางตาที่มีริ้วรอย วันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 12 สัปดาห์ มีผลทำให้รอยตีนกาลดลง (58)
ครีมที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากใบบัวบก 0.5% (ไม่ระบุชนิดของสารสกัด) ในการทดสอบให้ทาใบหน้า เป็นเวลา 6 สัปดาห์ มีผลทำให้ความหนาแน่นของคอลลาเจนเพิ่มขึ้น ปริมาณและความลึกของริ้วรอยลดลง ผิวหน้ามีความยืดหยุ่นและความกระชับเพิ่มขึ้น 29% และ 17% ตามลำดับ (59)
ครีมซึ่งมีส่วนผสมของวิตามินซี 5% และสารmadecassoside 0.1% ซึ่งเป็นสารสำคัญในบัวบก ในการทดสอบให้ทาบริเวณใบหน้า คอ หน้าอก และแขนวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 6 เดือน มีผลทำให้ผิวมีความชุ่มชื้นอ่อนนุ่ม และกระจ่างใสเพิ่มขึ้น ริ้วรอย จุดด่างดำ ความหยาบกร้าน และความหย่อนคล้อยลดลง (39)
เจลที่มีสารสกัดมาตรฐานจากใบบัวบกเป็นส่วนประกอบ 0.05% (ไม่ระบุชนิดของสารสกัด, ประกอบด้วยasiaticoside 38% และmadecassoside 51%)ในการทดสอบให้ทาหลังจากการทำเลเซอร์ วันละ 4 ครั้ง ตอนเช้า กลางวัน เย็น และก่อนนอน เป็นเวลา 7 วัน จากนั้นให้ทาวันละ 2 ครั้ง (เช้าและก่อนนอน) เป็นเวลา 3 เดือน มีผลทำให้รอยแดง การตกสะเก็ดของแผล และลักษณะทั่วไปของแผล หลังจากการทำเลเซอร์เพื่อรักษารอยแผลเป็นจากสิวบนใบหน้าดีขึ้น (32)
ฟลูอิด (fluid) ซึ่งประกอบด้วย hyaluronic acid 1%, glycerin 5% และเซลล์เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเจริญของใบบัวบก(meristem cell culture, ไม่ระบุชนิดของสารสกัด และความเข้มข้นที่ใช้ในผลิตภัณฑ์) ในการทดสอบให้ทาในปริมาณ 0.4 มล. ให้ทั่วพื้นที่ผิว ขนาด 5×15 ซม. เป็นเวลา 24 ชม. มีผลทำให้เพิ่มความชุ่มชื้นของผิว และลดการสูญเสียน้ำจากผิวได้ (60)
ครีมและไฮโดรเจลที่มีสารสกัด 70% เอทานอลจากบัวบก 2.5% และ 5% (ไม่ระบุส่วนของพืชที่ใช้) ในการทดสอบให้ทาครีมและไฮโดรเจล ขนาด 0.1 มล. วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 4 สัปดาห์มีผลเพิ่มความชุ่มชื้นของผิว ลดการสูญเสียน้ำจากผิว ลดการบวมแดง และค่า pH ของผิว (61)
ครีมซึ่งประกอบด้วยสารสกัดจากบัวบก (ไม่ระบุส่วนของพืชที่ใช้ ชนิดของสารสกัด และความเข้มข้นที่ใช้ในผลิตภัณฑ์), boswellic acids และ sylibin ในการทดสอบให้ทาผิว วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 1 เดือน มีผลทำให้ผิวมีความกระชับ ความยืดหยุ่น ความชุ่มชื้นเพิ่มขึ้น และไม่เกิดอาการคัน หรือระคายเคืองต่อผิว (62)
ครีมซึ่งมีสารสกัดจากบัวบก (ไม่ระบุส่วนของพืชที่ใช้ ชนิดของสารสกัดและความเข้มข้นที่ใช้ในผลิต-ภัณฑ์)วิตามินอี และ collagen-elastin hydrolysatesในการทดสอบให้ทาบริเวณท้อง หน้าอก สะโพก และก้น เป็นประจำทุกวัน จนกระทั่งคลอด มีผลทำให้ลดการเกิดผิวแตกลายระหว่างตั้งครรภ์ได้ (63)
ครีมซึ่งมีส่วนผสมของสารสกัดไตรเทอร์ปีนส์จากบัวบก(ไม่ระบุส่วนของพืชที่ใช้และความเข้มข้นที่ใช้ในผลิตภัณฑ์) hydroxyprolisilane-C, น้ำมันโรสฮิป (rosehip oil) และวิตามินอีในการทดสอบให้หญิงตั้งครรภ์ทาบริเวณท้อง หน้าอก สะโพก ต้นขา และก้น อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง จนถึง 30 วันหลังคลอด มีผลช่วยลดรอยแตกลาย และป้องกันไม่ให้เกิดรอยใหม่ของผิวขณะตั้งครรภ์ได้ (64)
ครีมซึ่งมีสารสกัดว่านหางจระเข้ 50% และสารสกัด 95% เอทานอลจากใบบัวบก 0.5% เป็นส่วนประกอบในการทดสอบให้ทาบริเวณส้นเท้าแตก วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 2 สัปดาห์ มีผลทำให้ความเนียนนุ่มของส้นเท้าดีขึ้น (65)
ครีมที่มีสารสกัดคลอโรฟอร์มจากใบบัวบก1% ในการทดสอบให้ทาบริเวณแผลให้มีความหนาประมาณ 1 มม. เป็นเวลา 21 วัน มีผลในการรักษาแผลเรื้อรังได้ (66)
ครีมซึ่งมีสารสกัดคลอโรฟอร์มจากใบบัวบก 1% (สารสกัดประกอบด้วย asiaticoside 49%, madecassic acid 29% และ asiatic acid 22%) ในการทดสอบให้ทาแผล วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลาตั้งแต่ 2 สัปดาห์ ถึง 2 เดือน มีผลในการรักษาแผลอักเสบหลังการผ่าตัดได้ (19)
ครีมซึ่งมีสารสกัด 70% อัลกอฮอล์จากใบบัวบกเป็นส่วนประกอบ 7% (สารสกัดประกอบด้วย asiaticoside 5.12% และ madecassoside 5.1%) ในการทดสอบให้ทาแผล ประมาณครั้งละ 1 ก. วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 12 สัปดาห์มีผลในการป้องกันการเกิดแผลเป็นในผู้ป่วยซึ่งมีแผลที่ถูกตัดผิวหนังบางส่วนเพื่อปลูกถ่ายได้ ในแง่ที่ช่วยทำให้ระดับความเข้มเม็ดสีของแผลลดลง (33)
ขี้ผึ้งที่มีส่วนสกัดด้วยบิวทานอลจากใบบัวบกเป็นส่วนประกอบ 3% ในการทดสอบให้ทาบริเวณที่มีแผลไหม้ วันละครั้ง จนกระทั่งแผลหายดี มีผลในการรักษาแผลไฟไหม้ได้ ไม่พบอาการข้างเคียงที่เป็นอันตราย และไม่พบการติดเชื้อจากการใช้ขี้ผึ้งใบบัวบก (67)
ลิปสติกซึ่งมีส่วนผสมของสาร asiaticoside 0.2% ในการทดสอบให้ทาริมฝีปาก วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 8 สัปดาห์ สามารถลดเรือนริ้วรอยบนริมฝีปากได้ โดยทำให้ความลึกและรอยย่นบนริมฝีปากลดลง (36)
สิทธิบัตร
DIP (THAILAND-TH)
USPTO (USA)
IP AUSTRALIA
สรุป
บัวบกมีศักยภาพสูงในการที่จะนำมาใช้ในด้านเครื่องสำอาง เนื่องจากมีข้อมูลรายงานการวิจัยสนับสนุนเป็นจำนวนมาก สามารถปลูกและหาซื้อได้ง่ายในประเทศ ปัจจุบันจะพบผลิตภัณฑ์ที่มีบัวบกหรือสารสกัดจากบัวบกเป็นส่วนผสมวางจำหน่ายเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับผิวพรรณ นับว่าบัวบกเป็นสมุนไพรอีกชนิดหนึ่งที่ควรส่งเสริมและสนับสนุนให้ใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง
เอกสารอ้างอิง
1. ราชันย์ภู่มา, สมรานสุดดี, บรรณาธิการ. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทยเต็มสมิตินันทน์ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมพ.ศ. 2557. กรุงเทพฯ: สำนักงานหอพรรณไม้สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืชกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช; 2557.
2. de Padua LS, Bunyapraphatsara N, Lemmens RHMJ, eds. Plant resources of south-east Asia No 12(1): Medicinal and poisonous plants 1. Leiden: Backhuys Publishers, 1999:711 pp.
3. Centella asiatica (L.) Urb.. The plant list. [Internet]. 2012 [cited 2020 December 4]. Available from: http://www.theplantlist.org/tpl1.1/record/kew-2708815.
4. นันทวัน บุณยะประภัศร และคณะ.ก้าวไปกับสมุนไพร เล่ม 1. กรุงเทพฯ: ธรรกมลการพิมพ์, 2529:243 หน้า.
5. มาโนชวามานนท์, เพ็ญนภาทรัพย์เจริญ.ผักพื้นบ้าน:ความหมายและภูมิปัญญาของสามัญชนไทย.กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก, 2538:256 หน้า.
6. Ara DM. Guide to Popular Natural Products. Missouri: Facts and Comparisons, 1999.
7. Hedge IC, Lamond JM. Umbelliferae. Flora of Thailand. 1992;5(4):442-8.
8. นันทวันบุณยะประภัศร, อรนุชโชคชัยเจริญพร, บรรณาธิการ. สมุนไพร..ไม้พื้นบ้าน (2). กรุงเทพฯ: บริษัทประชาชนจำกัด; 2541.
9. Muller V, Lankes C, Zimmerman BF, Noga G, Hunsche M. Centelloside accumulation in leaves of Centella asiatica is determined by resource partitioning between primary and secondary metabolism while influenced by supply levels of either nitrogen, phosphorus or potassium. J Plant Physiol. 2013;170:1165-75. doi: 10.1016/j.jplph. 2013.03.010.
10. ชำนาญภัตรพานิช,สุวรรณาเหลืองชลธาร,ปิยะเฉลิมกลิ่น,บังอร กงทอง, ปฐม โสมวงษ์. ปริมาณสารสำคัญของสมุนไพรบัวบกจากแหล่งต่างๆในประเทศไทยและเวลาต่างๆในรอบปี. วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก.2550;6(2):162.
11. Thongnopnua P. High-performance liquid chromatographic determination of asiatic acid in human plasma. Thai J Pharm Sci. 2008;32:10-6.
12. Kim WJ, Kim J, Veriansyah B, Kim JD, Lee YW, Oh SG, et al. Extraction of bioactive components from Centella asiatica using subcritical water. J Supercrit Fluids. 2009;48:211-6. doi: 10.1016/j.supflu.2008.11.007.
13. Ghosh K, IndraN. Phytochemistry, in vitro free radical scavenging, chelating and toxicity of Centella asiatica L. (Apiaceae) ethanolic leaf extract. Int J Pharm Sci Rev Res. 2014;29(1):328-34.
14. Xia B, Bai L, Xiaorong L, Xiong J, Xu P, Xue M. Structural analysis of metabolites of asiatic acid and its analogue madecassic acid in zebrafish using LC/IT-MS. Molecules. 2015;20(2):3001-9. doi: 10.3390/molecules20023001.
15. Srivastava S, Verma S, Gupta A, Rajan S, Rawat AKS. Studies on chemotypic variation in Centella asiatica (L.) Urban from nilgiri range of India. J Planar Chromat. 2014;27:454-9. doi: 10.1556/jpc.27.2014.6.9.
16. จิรานุชมิ่งเมือง,วิไลลักษณ์ชื่นนางชี,อภิรักษ์ศักดิ์เพ็ชร,สมจิตร์เนียมสกุล,ศักดิ์วิชัยอ่อนทอง. การพัฒนาวิธีวิเคราะห์สารกลุ่มไทรเทอร์พีนส์ในบัวบกด้วยวิธีUPLC. วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก. 2563;18(2):269-85.
17. Rafia M, Handayani F, Darusman LK, Rohaeti E, Wahyu Y, Sulistiyani, et al. A combi-nation of simultaneous quantification of four triterpenes and fingerprint analysis using HPLC for rapid identification of Centella asiatica from its related plants and classi-fication based on cultivation ages. Ind Crop Prod. 2018;122:93-7. doi: 10.1016/j.ind crop.2018.05.062.
18. Tiwari RK, Chanda S, Deepak M, Murli B, Agarwal A. HPLC method validation for simultaneous estimation of madecassoside, asiaticoside and asiatic acid in Centella asiatica. J Chem Pharm Res. 2010;2(3):223-9.
19. วีระสิงห์ เมืองมั่น, กฤษฎา รัตนโอฬาร. การใช้ครีมใบบัวบกรักษาแผลอักเสบโดยการทาภายนอก. หนังสือรวบรวมผลงานการวิจัยโครงการพัฒนาการใช้สมุนไพรและยาไทยทางคลินิค (2525-2536). 2536:69-74.
20. Somboonwong J, Kankaisre M, Tantisira B, Tantisira M.Wound healing activities of different extracts of Centella asiatica in incision and burn wound models: an experi- mental animal study. BMC Complement Altern Med. 2012;12:103.doi: 10.1186/1472-6882-12-103.
21. Sawatdee S, Choochuay K, Chanthorn W, Srichana T. Evaluation of the topical spray containing Centella asiatica extract and its efficacy on excision wounds in rats. Acta Pharm. 2016;66:233-44. doi: 10.1515/acph-2016-0018.
22. Hong SS, Kim JH, Li H, Shim CK. Advanced formulation and pharmacological activity of hydrogel of the titrated extract of C. asiatica. Arch Pharm Res. 2005;28(4):502-8. doi: 10.1007/BF02977683.
23. Nhiem NX, Tai BH, Quang TH, Kiem PV, Minh CV, Nam NH, et al. A new ursane-type triterpenoid glycoside from Centella asiatica leaves modulates the production of nitric oxide and secretion of TNF-a in activated raw 264.7 cells. Bioorg Med Chem Lett. 2011;21(6):1777-81. doi: 10.1016/j.bmcl.2011.01.066.
24. Yuyun X, Xi C, Qing Y, Lin X, Ke R, Bingwei S. Asiatic acid attenuates lipopolysaccha- ride-induced injury by suppressing activation of the Notch signaling pathway.Oncotarget. 2018;9(19):15036-46. doi: 10.18632/oncotarget.24542.
25. Fong LY, Ng CT, Cheok ZL, Moklas MAM, Hakim MN, Ahmad Z. Barrier protective effect of asiatic acid in TNF-a-induced activation of human aortic endothelial cells. Phytomedicine. 2016;23:191-9. doi: 10.1016/j.phymed.2015.11.019.
26. Huang SS, Chiu CS, Chen HJ, Hou WC, Sheu MJ, Lin YC, et al. Antinociceptive activities and the mechanisms of anti-inflammation of asiatic acid inmice.Evid Based Comple-ment Altern Med. 2011, article ID 895857. doi:10.1155/2011/895857.
27. Chen YJ, Dai YS, Chen BF, Chang A, Chen HC, Lin YC, et al. The effect of tetrandrine and extracts of Centella asiatica on acute radiation dermatitis in rats. Biol Pharm Bull. 1999;22(7):703-6. doi: 10.1248/bpb.22.703.
28. Kai G, Pan J, Yuan C, Yuan Y. Separation of madecassoside and madecassic acid isomers by high performance liquid chromatography using b-cyclodextrin as mobile phase additive. Bull Korean Chem Soc. 2008;29(3):551-4. doi: 10.5012/BKCS.2008.29. 3.551.
29. Won JH, Shin JS, Park HJ, Jung HJ, Koh DJ, Jo BG, et al. Anti-inflammatory effects of madecassic acid via the suppression of NF-kB pathway in LPS-induced RAW 264.7 macrophage cells. Planta Med. 2010;76:251-7. doi: 10.1055/s-0029-1186142.
30. Jia G, Lu X. Enrichment and purification of madecassoside and asiaticoside from Centella asiatica extracts with macroporous resins. J Chromatogr A. 2008;1193:136-41. doi: 10.1016/j.chroma.2008.04.024.
31. Lee J, Jung E, Lee H, Seo Y, Koh J, Park D. Evaluation of the effects of a preparation containing asiaticoside on periocular wrinkles of human volunteers. Int J Cosmet Sci. 2008;30(3):167-73. doi: 10.1111/j.1468-2494.2008.00440.x.
32. Damkerngsuntorn W, Rerknimitr P, Panchaprateep R, Tangkijngamvong N, Kumtornrut C, Kerr SJ, et al. The effects of a standardized extract of Centella asiatica on post-laser resurfacing wound healing on the face: A split-face, double-blind, randomized, placebo-controlled trial. J Altern Complement Med. 2020;26(6):529-36. doi: 10.1089/ acm.2019.0325.
33. Jenwitheesuk K, Rojsanga P, Chowchuen B, Surakunprapha P. A prospective randomized, controlled, double-blind trial of the efficacy using Centella cream for scar improvement. Evid Based Complement Altern Med. 2018, article ID 9525624. doi: 10.1155/2018/9525624.
34. Hou Q, Li M, Lu YH, Liu DH, Li CC. Burn wound healing properties of asiaticoside and madecassoside. Exp Ther Med. 2016;12:1269-74. doi: 10.3892/etm.2016.3459.
35. Wu F, Bian D, Xia Y, Gong Z, Tan Q, Chen J, Dai Y. Identification of major active ingredients responsible for burn wound healing of Centella asiatica herbs. Evid Based Complement Altern Med. 2012, article ID 848093. doi: 10.1155/2012/848093.
36. Ryu JS, Park SG, Kwak TJ. Improving lip wrinkles: lipstick-related image analysis. Skin Res Technol. 2005;11(3):157–64. doi: 10.1111/j.1600-0846.2005.00115.x.
37. Kwon KJ, Bae S, Kim K, An IS, Ahn KJ, An S, et al. Asiaticoside, a component of Centella asiatica, inhibits melanogenesis in B16F10 mouse melanoma. Mol Med Rep. 2014;10:503-7. doi: 10.3892/mmr.2014.2159.
38. Wan JY, Gong X, Jiang R, Zhang Z, Zhang L. Antipyretic and anti-inflammatory effects of asiaticoside in lipopolysaccharide-treated rat through up-regulation of heme oxygenase-1. Phytother Res. 2013;27:1136-42. doi: 10.1002/ptr.4838.
39. Haftek M, Mac-Mary S, Le Bitoux MA, Creidi P, Seite S, Rougier A, et al. Clinical, biometric and structural evaluation of the long-term effects of a topical treatment with ascorbic acid and madecassoside in photoaged human skin. Exp Dermatol 2008;17:946-52. doi: 10.1111/j.1600-0625.2008.00732.x.
40. Liu M, Dai Y, Li Y, Luo Y, Huang F, Gong Z, et al. Madecassoside Isolated from Centella asiatica herbs facilitates burnwound healing in mice.Planta Med. 2008;74:809-15. doi 10.1055/s-2008-1074533.
41. Jung E, Lee JA, Shin S, Roh KB, Kim JH, Park D. Madecassoside inhibits melanin synthesis by blocking ultraviolet-induced inflammation. Molecules. 2013, 18, 15724-15736. doi:10.3390/molecules181215724.
42. Shen X, Guo M, Yu H, Liu D, Lu Z, Lu Y. Propionibacterium acnes related anti-inflammation and skin hydration activities of madecassoside, a pentacyclic triterpene saponin from Centella asiatica. Biosci Biotechnol Biochem. 2019;83(3):561-8. doi: 10.1080/09168451.2018.1547627.
43. Li H, Gong X, Zhang L, Zhang Z, Luo F, Zhou Q, et al. Madecassoside attenuates inflammatory response on collagen-induced arthritis in DBA/1 mice. Phytomedicine. 2009;16:538-46. doi: 10.1016/j.phymed.2008.11.002.
44. Zhang M, Hettiarachchy NS, Horax R, Kannan A, Praisoody AMD, Muhundan A, et al. Phytochemicals, antioxidant and antimicrobial activity of Hibiscus sabdariffa, Centella asiatica, Moringa oleifera and Murraya koenigii leaves. J Med Plants Res. 2011;5(30):6672-80.
45. Subban R, Veerakumar A, Manimaran R, Hashim KM, Balachandran I. Two new flavo-noids from Centella asiatica (Linn.).J Nat Med. 2008;62:369-73. doi: 10.1007/s11418-008-02290.
46. Mustafa RA, Hamid AA, Mohamed S, Bakar F. Total phenolic compounds, flavonoids, and radical scavenging activity of 21 selected tropical plants.J Food Sci. 2010;75(1):C28-35. doi: 10.1111/j.1750-3841.2009.01401.x.
47. Andarwulan N, Batari R, Sandrasari DA, Bradley B, Wijaya H. Flavonoid content and antioxidant activity of vegetables from Indonesia. Food Chem. 2010;121:1231-5.doi: 10.1016/j.foodchem.2010.01.033.
48. Singh DP, Bahadur A, Singh P, Singh JS, Singh UP. Phenolic constituents of Centella asiatica L. and Andrographis paniculata (Burn.f) Wall. Ex Nees. Proc Nat Acad Sci India, Sect. B. 2009;79:399-401.
49. Wongsa P, Chaiwarit J, Zamaludien A. In vitro screening of phenolic compounds, potential inhibition against a-amylase and a-glucosidase of culinary herbs in Thailand. Food Chem. 2012;131:964-71. doi: 10.1016/j.foodchem.2011.09.088.
50. Antognoni F, Perellino NC, Crippa S, Toso RD, Danieli B, Minghetti A, et al. Irbic acid, a dicaffeoylquinic acid derivative from Centella asiatica cell cultures. Fitoterapia. 2011;82:950-4. doi: 10.1016/j.fitote.2011.05.008.
51. Saeio K, Chaiyana W, Okonogi S. Antityrosinase and antioxidant activities of essential oils of edible Thai plants. Drug Discov Ther. 2011;5(3):144-9.doi: 10.5582/ddt.2011. v5.3.144
52. Minija J, Thoppil JE. Antimicrobial activity of Centella asiatica (L.) Urb. essential oil. Indian Perfumer. 2003;47(2):179-81.
53. Oyedeji OA, Afolayan AJ. Chemical composition and antibacterial activity of the essential oil of Centella asiatica growing in South Africa. Pharm Biol. 2005;43(3):249-52. doi: 10.1080/13880200590928843.
54. สุวรรณา เหลืองชลธาร, ชำนาญ ภัตรพานิช, ปฐม โสมวงศ์. การพัฒนาวิธีวิเคราะห์และการศึกษาความถูกต้องแม่นยำของวิธีวิเคราะห์สารออกฤทธิ์ madecassoside และ asiaticoside ในสารสกัดบัวบก. วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก. 2551;6(2) (ฉบับเสริม):164.
55. กุลธิดา ศิริวัฒน์, บรรณาธิการ. มาตรฐานสมุนไพรไทยทางเครื่องสำอาง เล่ม 1. กรุงเทพฯ: กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข; 2561.
56. ภารดีอินทจันทร์,วิภาเพ็ญโชคดีสัมฤทธิ์. การศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิผลของเจลสารสกัดใบบัวบก5% กับเจลคลินดามัยซิน1% ในการรักษาสิว. J Med Health Sci. 2020;27(1):1-11.
57. มัญชุนินทรวงษาธรรม. การศึกษาประสิทธิผลในการรักษาริ้วรอยรอบดวงตาของครีมสารสกัดจากใบบัวบก.วิทยานิพนธ์ปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต. มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์; 2562.
58. Zhang J, Hou W, Feng S, Chen X, Wang H. Classification of facial wrinkles among Chinese women. J Biomed Res. 2017;31(2):108-15. doi: 10.7555/JBR.31.20150175.
59. Maramaldi G, Togni S, Franceschi F, Lati E. Anti-inflammaging and antiglycation activity of a novel botanical ingredient from African biodiversity (Centevita™). Clin Cosmet Investig Dermatol. 2014;7:1-9. doi: 10.2147/ccid.s49924.
60. Saeidinia A, Keihanian F, Lashkari AP, Lahiji HG, Mobayyen M, Heidarzade A,et al. Partial-thickness burn wounds healing by topical treatment. A randomized controlled comparison between silver sulfadiazine and centiderm. Medicine. 2017;96:9 (e6168).doi: 10.1097/MD.0000000000006168.
61. Milani M, Sparavigna A. The 24-hour skin hydration and barrier function effects of a hyaluronic 1%, glycerin 5%, and Centella asiatica stem cells extract moisturizing fluid: anintra-subject, randomized, assessor-blinded study. Clin Cosmet Investig Dermatol. 2017;10:311-5.doi: 10.2147/CCID.S144180.
62. Ratz-lyko A, Arct J, Pytkowska K. Moisturizing and antiinflammatory properties of cosmetic formulations containing Centella asiatica extract.Indian J Pharm Sci. 2016;78(1):27-33.doi: 10.4103/0250-474x.180247.
63. Martelli L, Berardesca E, Martelli M. Topical formulation of a new plant extract complex with refirming properties. Clinical and noninvasive evaluation in a double-blind trial. Int J Cosmet Sci 2000;22(3):201-6.doi:10.1046/j.1467-2494.2000.00045.x
64. Mallol J, Belda MA, Costa D, Noval A, Sola M. Prophylaxis of Striae gravidarum with a topical formulation. A double blind trial. Int J Cosmet Sci. 1991;13:51-7. doi: 10.1111/j.1467-2494.1991.tb00547.x.
65. Garcia Hernandez JA, Madera Gonzalez D, Padilla Castillo M, Figueras Falcon T. Use of a specific anti-stretch mark cream for preventing or reducing the severity of Striae gravidarum. Randomized, double-blind, controlled trial. Int J Cosmet Sci. 2013;35:233-7.doi: 10.1111/ics.12029.
66. จิตรานันท์สุกุมลนันทน์,วรรณารัตน์กมลปิยะพัฒน์. การพัฒนาสูตรตำรับครีมสมุนไพรสำหรับส้นเท้าแตก. โครงการพิเศษปริญญาตรีคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล. 2008.
67. ศิริรัตน์ โกศัลยวัฒน์, จันทรา ชัยพานิช, เกษียร ภังคนนท์. การใช้ครีมใบบัวบก 1% รักษาแผลเรื้อรัง. สารศิริราช.2531;40(6):455-61.
68. Manosroi A, Chaikul P, Chankhampan C, Ruksiriwanich W, Manosroi W, Manosroi J. 5a-reductase inhibition and melanogenesis induction of the selected Thai plant extracts.Chiang Mai J Sci. 2018;45(1):220-36.
69. Saansoomchai P, Limmongkon A, Surangkul D, Chewonarin T, Srikummool M. Enhanced VEGF expression in hair follicle dermal papilla cells by Centella asiatica Linn.CMU J Nat Sci. 2018;17(1):25-37.
70. อรัญญามโนสร้อย,ภักวดีไชยกุล,ชุตินันท์ประสิทธิ์ภูริปรีชา,ลักษณาเจริญใจ,วันดีรังสีวิจิตร-ประภา,วรผกามโนสร้อยและคณะ. ฤทธิ์กระตุ้นการสร้างเมลานินและโปรตีนของเซลล์มะเร็งหนูB16F10 ของสารสกัดจากสมุนไพรไทยที่เก็บกักในนีโอโซม. วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก. 2553;8(2) (ฉบับเสริม):52.
71. กฤตติญารัตน์, สมวงศ์ชุตินันท์, ประสิทธิ์ภูริปรีชา. ฤทธ์ต้านออกซิเดชันและฤทธ์กระตุ้นการสังเคราะห์เม็ดสีเมลานินของสารสกัดสมุนไพรไทยพื้นบ้านบางชนิดเพื่อใช้สำหรับผมหงอกก่อนวัย.การประชุมวิชาการและนำเสนอผลงานระดับชาติ The 4th annual northeast pharmacy research conference of 2012, “pharmacy profession in harmony”. 11-12กุมภาพันธ์ 2555, ขอนแก่น, หน้า 125-34.
72. นุศวดีพจนานุกิจ.สมใจขจรชีพพันธุ์งาม. เปรียบเทียบการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียของสารสกัดจากเปลือกมังคุดขมิ้นชันและใบบัวบก. Naresuan Univ J. 2010;18(1):1-9.
73. Chomnawang MT, Surassmo S, Nukoolkarn VS, Gritsanapan W. Antimicrobial effects of Thai medicinal plants against acne-inducing bacteria. J Ethnopharmacol. 2005;101:330-3.doi:10.1016/j.jep.2005.04.038.
74. Chiocchio I, Mandrone M, Sanna C, Maxia A, Tacchini M, Poli F. Screening of a hundred plant extracts as tyrosinase and elastase inhibitors, two enzymatic targets of cosmetic interest.Ind Crops Prod. 2018;122:498-505. doi: 10.1016/j.indcrop.2018.06.029.
75. Kwon MC, Choi WY, Seo YC, Kim J, Yoon CS, Lim HW, et al. Enhancement of the skin-protective activities of Centella asiatica L. Urban by a nano-encapsulation process. J Biotechnol 2012;157:100-6.doi:10.1016/j.jbiotec.2011.08.025.
76. Seo SB, Kim YM.Improving cosmetic activity by optimizing Centella asiatica extrac-tion process.Nat Prod Commun. 2019:1-4.doi: 10.1177/1934578x19867188.
77. ดวงกมลแต้มช่วย,ธีระ รักความสุข,ธวัชชัยศักดิ์ภู่อร่าม,นงลักษณ์เรืองวิเศษ. การศึกษาฤทธิ์ต้านเชื้อของสารสกัดหยาบของบัวบกและแว่นแก้วต่อเชื้อStaphylococcus aureus. 34th Congress on science and technology of Thailand, Bangkok, 31 October-2 November 2008.
78. Samy RP, Ignacimuthu S. Antibacterial activity of some folklore medicinal plants used by tribals in Western Ghats of India. J Ethnopharmacol. 2000;69:63-71.doi: 10.1016/s0378-8741(98)00156-1.
79. Soyingbe OS, Mongalo NI, Makhafola TJ. In vitro antibacterial and cytotoxic activity of leaf extracts of Centella asiatica (L.) Urb, Warburgia salutaris (Bertol. F.) Chiov andCurtisia dentata (Burm. F.) C.A.Sm -medicinal plants used in South Africa.BMC Complement Altern Med. 2018;18:315.doi: 10.1186/s12906-018-2378-3.
80. Ondeko DA, Juma BF, Baraza LD, Nyongesa PK. LC-ESI/MS and GC-MS methanol extract analysis, phytochemical and antimicrobial activity studies of Centella asiatica.Asian J Chem Sci. 2020;8(3):32-51.doi: 10.9734/ajocs/2020/v8i319046.
81. Nasution MY, Restuati M, Pulungan ASS., Pratiwi N, Diningrat DS. Antimicrobial activi-ties of Centella asiatica leaf and root extracts on selected pathogenic micro-organisms. J Med Sci. 2018;18(4):198-204.doi: 10.3923/jms.2018.198.204.
82. Vasagam YK, Marimuthu S. Antimicrobial, anti-inflammatory effects of Centella asiatica leaf and their cytotoxic effects on MCF-7 and HeLa cell lines.Res J Pharm Biol Chem Sci. 2020;11(1):1-5.doi: 10.33887/rjpbcs/2020.11.1.1.
83. Rekha SR, Kulandhaivel M, Hridhya KV. Antibacterial efficacy and minimum inhibitory concentrations of medicinal plants against wound pathogens. Biomed Pharmacol J.2018;11(1):237-46. doi: 10.13005/bpj/1368.
84. กชวรรณกำสิน. การพัฒนาสูตรตำรับสบู่เหลวสมุนไพรเพื่อการฆ่าเชื้อ. โครงการพิเศษคณะเภสัช-ศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล, 2008.
85. Lyngdoh CJ, Wahlang JB, Langstieh AJ, Hadem KLH, Bora I, Lahon J, et al. Antimicrobial activity of Aristolochia tagala Cham. Centella asiatica Linn. Houttuynia cordata Thunb. on multi-drug resistant clinical isolates.Int J Pharm Sci Rev Res. 2020;4(2):76-81.doi: 10.47583/ijpsrr.2020.v64i02.013.
86. เผด็จสังขไพฑูรย์,ปิยนันท์สังขไพฑูรย์,โสภาคำมี. ศึกษาสารสกัดจากสมุนไพร15 ชนิดในการต้านฤทธิ์แบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคเต้านมอักเสบในโคนม. การประชุมวิชาการสมุนไพรไทยโอกาสและทางเลือกใหม่ของอุตสาหกรรมผลิตสัตว์, กรุงเทพฯ, 24-25ตุลาคม 2545:298-308.
87. Sieberi BM, Omwenga GI, Wambua RK, Samoei JC, Ngugi MP. Screening of the dichloromethane: methanolic extract of Centella asiatica for antibacterial activities against Salmonella typhi, Escherichia coli, Shigella sonnei, Bacillus subtilis, and Staphylococcus aureus.Sci World J. 2020, article ID 6378712. doi: 10.1155/2020/6378712.
88. Restuati M, Diningrat DS. Antimicrobial profile of Premna pubescens Blume and Centellaasiatica extracts against bacteria and fungi pathogens.Int J Pharmacol. 2018;14(2):271-5. doi: 10.3923/ijp.2018.271.275.
89. Panda SK, Mohanta YK, Laxmipriya P, Park YH, Mohanta TK, Bae H. Large scale screening of ethnomedicinal plants for identification of potential antibacterial compounds. Molecules. 2016;21(3):293. doi:10.3390/molecules21030293.
90. อารีรัตน์ ลออปักษา, สุรัตนา อำนวยผล, วิเชียร จงบุญประเสริฐ.การศึกษาสมุนไพรที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ (ตอนที่ 1).ไทยเภสัชสาร 2531;13(1):23-35.
91. Irham WH, Tamrin, Marpaung L, Marpongahtun.Phytochemicals screening and antibacterial activity of Curcuma longa Linn, Ziziphus mauritiana and Centella asiatica L. Urban extract. Rasayan J Chem. 2020;13(3):1978-83. doi: 10.31788/RJC.2020.1335809
92. Barooah L.Antioxidant property and phenol content of some medicinal plants from Sonitpur district of Assam. Int J Chem Stud. 2020;8(5):478-80.doi: 10.22271/chemi.2020.v8.i5g.10343.
93. Huda-Faujan N, Noriham A, Norrakiah A, Babji AS.Antioxidant activity of plants methanolic extracts containing phenolic compounds.Afr J Biotechnol. 2009;8(3):484-9.
94. Chippada SC, Vangalapati M. Antioxidant, an anti-inflammatory and anti-arthritic activity of Centella asiatica extracts. J Chem Bio Phy Sci. 2011;1(2):260-9.
95. Mairuae N, Cheepsunthorn P, Buranrat B. Anti-Inflammatory and anti-oxidative effects of Centella asiatica extract in lipopolysaccharide-stimulated BV2 microglial cells. Pharmacogn Mag.2019;15:140-6.doi: 10.4103/pm.pm_197_18.
96. Aupala B, Kaewkod T, Pukumpuang W,Tragoolpua Y. Inhibition of pathogenic enteric bacteria and anti-free radicals of vegetable extracts. 38th Congress on science and technology of Thailand, ChiangMai, 17-19 October 2012.
97. Quyen NTC, Quyen NTN, Quy NN, Quan PM. Evaluation of total polyphenol content, total flavonoid content, and antioxidant activity of Centella asiatica. IOP Conf Ser: Mater Sci Eng 991. 2020.doi:10.1088/1757-899X/991/1/012020.
98. Hamid AA, Shah ZM, Muse R, Mohamed S. Characterisation of antioxidative activities of various extracts of Centella asiatica (L.) Urban. Food Chem. 2002;77(4):465-9.doi: 10.1016/s0308-8146(01)00384-3.
99. Pittella F, Dutra RC, Junior DD, Lopes MTP, Barbosa NR. Antioxidant and cytotoxic activities of Centella asiatica (L) Urb. Int J Mol Sci. 2009;10:3713-21.doi:10.3390/ijms10093713.
100. Sulaiman SF, Sajak AAB, Ooi KL, Supriatno, Seow EM.Effect of solvents in extracting polyphenols and antioxidants of selected raw vegetables.J Food Compos Anal.2011;24:506-15.doi: 10.1016/j.jfca.2011.01.020.
101. Zainal WNHW, Musahib FR, Zulkeflee NS. Comparison of total phenolic contents and antioxidant activities of Centella asiatica extracts obtained by three extraction techniques. Int J Eng Technol Sci.2019;6(2):1-11.doi: 10.15282/ijets.6.2. 2019.1004.
102. Hashim P, Sidek H, Helan MHM, Sabery A, Palanisamy UD, Ilham M.Triterpene composition and bioactivities of Centella asiatica. Molecules. 2011;16:1310-1322.doi: 10.3390/molecules16021310.
103. Khuanekkaphan M, Noysang C, Khobjai W. Anti-aging potential and phytochemicals of Centella asiatica, Nelumbo nucifera, and Hibiscus sabdariffa extracts.J Adv PharmTechnol Res. 2020;11:174-8.doi: 10.4103/japtr.JAPTR_79_20.
104. Kumari S, Deori M, Elancheran R, Kotoky J, Devi R. In vitro and in vivo antioxidant,anti-hyperlipidemic properties and chemical characterization of Centella asiatica (L.) extract.Front Pharmacol. 2016;7.doi:10.3389/fphar.2016.00400.
105. Zofia NL, Martyna ZD, Aleksandra Z, Tomasz B. Comparison of the antiaging and protective properties of plants from the Apiaceae family. Oxid Med Cell Longev. 2020, article ID 5307614. doi: 10.1155/2020/5307614.
106. Gunathilake KDPP, Ranaweera KKDS, Rupasinghe HPV. Analysis of rutin, b-carotene, and lutein content and evaluation of antioxidant activities of six edible leaves on free radicals and reactive oxygen species. J Food Biochem. 2018;42:e12579. doi:10.1111/jfbc.12579.
107. Astuti IY, Yupitawati A, Nurulita NA. Anti-aging activity of tetrahydrocurcumin, Centella asiatica extract, and its mixture. Adv Tradit Med. 2021, 02.doi:10.1007/s13596-020-00532-9.
108. Venesia NF, Fachrial E, Lister INE. Effectiveness test of Centella asiatica extract on improvement of collagen and hydration in female white rat (Rattus norwegicus Wistar). ASRJETS. 2020;65(1):98-107.
109. Sakpakdeejaroen I, Makchuchit S, Arunporn Itharat. Nitric oxide inhibitory activity of herbal extract formulae for anti-inflammation. Thammasat Med J. 2014;14(1):7-12.
110. Cho YC, Vuong HL, Ha J, Lee S, Park J, Wibow AE, et al. Inhibition of inflammatory responsesby Centella asiatica via suppression of IRAK1-TAK1 in mouse macro-phages.Am J Chin Med. 2020;48(5):1103-20.doi: 10.1142/s0192415x20500548.
111. Salim E, Kumolosasi E, Jantan I. Inhibitory effect of selected medicinal plants on the release of pro-inflammatory cytokines in lipopolysaccharide-stimulated human peri-pheral blood mononuclear cells. J Nat Med. 2014;68(3):647-53.doi: 10.1007/s11418-014-0841-0.
112. Punturee K, Wild CP, Vinitketkumneun U. Thai medicinal plants modulate nitric oxide and tumor necrosis factor-a in J774.2 mouse macrophages. J Ethnopharma-col. 2004;95:183-9.doi:10.1016/j.jep.2004.06.019.
113. Hafiz ZZ, Amin MAM, James RMJ, Teh LK, Salleh MZ, Adenan MI. Inhibitory effects of raw-extract Centella asiatica (RECA) on acetylcholinesterase, inflammations, and oxidative stress activities via in vitro and in vivo. Molecules. 2020,25,892.doi:10.3390/molecules25040892.
114. Sukketsiri W, Tanasawet S, Moolsap F, Tantisira MH, Hutamekalin P, Tipmanee V. ECa 233 suppresses LPS-induced proinflammatory responses in macrophages via suppressing ERK1/2, p38 MAPK and Akt pathways.Biol Pharm Bull. 2019;42:1358-65.doi: 10.1248/bpb.b19-00248.
115. Saha S, Guria T, Singha T, KumarMaity T. Evaluation of analgesic and anti-inflamma-tory activity of chloroform and methanol extracts of Centella asiatica Linn.ISRN Pharmacol.2013, article ID 789613. doi: 10.1155/2013/789613.
116. อรัญญามโนสร้อย,จริญญาจันทร์คำปัน,พิศิษฐ์ใจนนถีย์,วรผกามโนสร้อย, จีรเดชมโนสร้อย. ฤทธิ์ต้านการอักเสบของสารสกัดใบบัวบก (Centella asiatica, Linn.) ในสัตว์ทดลองหนูโดยวิธีhind paw edema. 35th Congress on science and technology of Thailand, Chonburi, 15-17 October, 2009.
117. George M, Joseph L, Ramaswamy. Anti-allergic, anti-pruritic, and anti-inflammatory activities of Centella asiatica extracts.Afr J Trad CAM. 2009;6(4):554-9.doi: 10.4314/ajtcam.v6i4.57206.
118. Idrus RBH, Chowdhury SR, Nur Manan ABA, Fong OS, Adenan MI, Saim AB. Aqueous extract of Centella asiatica promotes corneal epithelium wound healing in vitro.J Ethnopharmacol. 2012;140:333-8.doi: 10.1016/j.jep.2012.01.023.
119. Idrus RBH, Yunus MHM, Simat SF, Sainik NQAV, Adenan MI, Saim AB. Aqueous extract of Centella asiatica as a potential anti-keloid agent. Int J Pharm Sci Res. 2018;9(3):1281-90.doi: 10.13040/IJPSR.0975-8232.9(3).1281-90.
120. ธารินี เจริญสันติธรรม. ฤทธิ์ของบัวบกต่ออัตราการไหลเวียนเลือดและการทำงานของเซลล์เอนโดทีเลียมในแบบจำลองแผลไหม้ระดับสองของหนูขาว. วิทยานิพนธ์ปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต. มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ; 2553.
121. หทัยชนกทันอินทรอาจ,มยุรีตันติสิระ, บุญยงค์ตันติสิระ. การศึกษาเบื้องต้นเกี่ยวกับฤทธิ์สมานแผลของสารสกัดมาตรฐานบัวบกอีซีเอ233 ต่อแผลกรีดในหนูแรท. 35th Congress on science and technology of Thailand, Chonburi, 15-17 October 2009.
122. Ahmed AS, Taher M, Mandal UK, Jaffri JM, Susanti D, Mahmood S. Pharmacological properties of Centella asiatica hydrogel in accelerating wound healing in rabbits.BMC Complement Altern Med. 2019;19:213. doi: 10.1186/s12906-019-2625-2.
123. Chivapat S, Chavalittumrong P, Tantisira MH. Acute and sub-chronic toxicity studies of a standardized extract of Centella asiatica ECa 233. Thai J Pharm Sci. 2011;35:55-64.
124. ทรงพล ชีวะพัฒน์, จารีย์ บันสิทธิ์, ปราณี ชวลิตธำรง, ทรงพล ผดุงพัฒน์, เอมมนัส อัตตวิชญ์, สมเกียรติ ปัญญามัง และคณะ. การศึกษาความเป็นพิษของสมุนไพรบัวบก. วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก. 2547;2(3):3-17.
125. Deshpande PO, Mohan V, Thakurdesai P. Preclinical safety assessment of standardized extract of Centella asiatica (L.) Urban leaves.Toxicol Int. 2015;22(1):10-20.doi: 10.4103/0971-6580.172251.
126. Yadav MK, Singh SK, Singh M, Mishra SS, Singh AK, Tripathi JS. In vivo toxicity study of ethanolic extracts of Evolvulus alsinoides&Centella asiatica in Swiss albino mice.Maced J Med Sci. 2019;7(7):1071-6.doi: 10.3889/oamjms.2019.209.
127. มงคลโมกขะสมิต,กมลสวัสดีมงคล,ประยุทธสาตราวาหะ. การศึกษาพิษของสมุนไพรไทย.วารสารของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์. 2514;13(1):36-66.
128. คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา.บัญชียาจากสมุนไพร พ.ศ. 2549 ตามประกาศคณะกรรมการแห่งชาติด้านยา (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2549 เรื่อง บัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2547 (ฉบับที่ 4).กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด, 2549: 100 หน้า.
129. Laerum OD, Iversen OH. Reticuloses and epidermal tumors in hairless mice after topical skin applications of cantharidin and asiaticoside. Cancer Res. 1972;32:1463-9.
130. Der Marderosian A (ed.). The Review of Natural Products 2001. Missouri: Facts and Comparisons, 2001:722 pp.
131. Gruenwald J, Brendler T, Jaenicke C, et al. (eds.). PDR for Herbal Medicines (2nd Edition). New Jersey: Medical Economic Company, 2000:858 pp.
132. Eun HC, Lee AY. Contact dermatitis due to medecassol. Contact Dermatitis. 1985;13(5):310-3.
133. Gomes J, Pereira T, Vilarinho C, da Luz Duarte M, Brito C. Contact dermatitis due toCentella asiatica. Contact Dermatitis. 2010;62:54-65.
134. Jorge OA, Jorge AD.Hepatotoxicity associated with the ingestion of Centella asiatica. Rev Esp Enferm Dig. 2005;97(2):115-24. doi: 10.4321/s1130-01082005000200006.
135. พรทิพย์เติมวิเศษ,นงนภัสเลาหวิจิตร,มณทิราเกษมสุข, บรรณาธิการ. คู่มือการกำหนดพื้นที่ส่งเสริมการปลูกสมุนไพรเพื่อใช้ในทางเภสัชกรรมไทย. กรุงเทพฯ: สำนักงานกิจการโรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก; 2558:304 หน้า.