งาขี้ม้อน
- ชื่อ
- ส่วนของพืชที่ใช้
- การกระจายตัวทางภูมิศาสตร์/แหล่งที่มา
- ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
- การเพาะปลูก
- สรรพคุณและการใช้สมุนไพรพื้นฐานตามภูมิปัญญาไทยด้านเครื่องสำอาง
- สารเคมีที่เป็นองค์ประกอบ
- สารออกฤทธิ์ หรือ สารสำคัญ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Perilla frutescens (L.) Britton
ชื่อวงค์
LAMIACEAE
ชื่อสมุนไพร
งาขี้ม้อน
ชื่ออังกฤษ
-
ชื่อพ้อง
Ocimum frutescens L.
Perilla ocymoides L.
Perilla urticifolia Salisb.
ชื่อท้องถิ่น
งามน นอ น่อง แง
ชื่อ INCI
PERILLA FRUTESCENS CALLUS CULTURE EXTRACT
PERILLA FRUTESCENS CALLUS LYSATE
PERILLA FRUTESCENS EXTRACT
PERILLA FRUTESCENS FLOWER EXTRACT
PERILLA FRUTESCENS JUICE
PERILLA FRUTESCENS LEAF EXTRACT
PERILLA FRUTESCENS LEAF OIL
PERILLA FRUTESCENS LEAF WATER
PERILLA FRUTESCENS SEED
PERILLA FRUTESCENS SEED EXTRACT
PERILLA FRUTESCENS SEED OIL
PERILLA FRUTESCENS SEEDCAKE
PERILLA FRUTESCENS SPROUT EXTRACT
ส่วนของพืชที่ใช้
การกระจายตัวทางภูมิศาสตร์/แหล่งที่มา
งาขี้ม้อนมีถิ่นกำเนิดในอินเดียและจีน มีการปลูกอย่างแพร่หลายในประเทศจีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลี และพื้นที่บางส่วนในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่น ทางภาคเหนือของประเทศไทย (3)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้พุ่ม สูง 1–2 ม. ลำต้นตั้งตรง เป็นสันสี่เหลี่ยม มีร่องตามยาว ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่ถึงรูปไข่กว้าง กว้าง 3–5 ซม. ยาว 6–10 ซม. แผ่นใบมีขนนุ่มสีขาวทั้งสองด้าน ขอบใบหยักฟันเลื่อย ดอกช่อ ออกที่ปลายกิ่ง ดอกย่อยจำนวนมาก กลีบดอกสีขาว เชื่อมติดกันเป็นหลอดปลายแยกเป็นสองปาก ผลแห้ง ไม่แตก เมล็ดกลม ขนาดเล็ก สีดำหรือสีน้ำตาลเข้ม (3)
การเพาะปลูก
เพาะต้นกล้าในกระบะเพาะ จนมีใบจริง 2-3 ใบ จากนั้นประมาณ 30 วัน ย้ายลงถุงขนาด 3x5 นิ้วหลังจากนั้น 1 เดือนย้ายลงแปลงปลูก โดยเตรียมหลุมห่างกัน 1.5 ม. ระยะระหว่างต้น 1 ม. โดยใส่ปุ๋ยคอก และปุ๋ยสูตร 15-15-15 (20 ก.) รองก้นหลุม
หลังย้ายแปลงปลูก 2 สัปดาห์ รดด้วยปุ๋ยยูเรียผสมน้ำ (ปุ๋ย 20 ก./น้ำ 20 ลิตร) 2-3 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 3-4 สัปดาห์ เมื่ออายุครบ 3 เดือน ใกล้ออกดอก ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ประมาณ 20 ก./ต้นหลังจากนั้น 1 เดือน เมื่อออกดอกและดอกเริ่มบาน ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ประมาณ 20 ก./ต้น อีกครั้งหนึ่ง (ให้ระวังต้นล้ม ควรใช้ไม้หลักไผ่รวกผูกลำต้นไว้)
ทำการเก็บเกี่ยวผลผลิตเมื่อช่อดอกแห้งไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของช่อดอกทุกช่อ โดยการโน้มต้นลงบนผ้าพลาสติกขนาดใหญ่ เนื่องจากเมล็ดร่วงหล่นง่ายและมีขนาดเล็กมาก (24)
สรรพคุณและการใช้สมุนไพรพื้นฐานตามภูมิปัญญาไทยด้านเครื่องสำอาง
ไม่มีข้อมูล
สารเคมีที่เป็นองค์ประกอบ
สารสำคัญที่พบในเมล็ดงาขี้ม้อน (5-9) ได้แก่
สารประกอบฟีนอลิก (phenolic compounds) ได้แก่ 3′-dehydroxyl-rosmarinic acid-3-O-glucoside, caffeic acid, caffeic acid-3-O-β-D-glucoside, ferulic acid, rosmarinic acid, rosmarinic acid methylester, rosmarinic acid-3-O-β-D-glucoside, vanillic acid, cimidahurinine
สารกลุ่มฟลาโวนอยด์ (flavonoids)(+)-catechin, apigenin, chrysoeriol, luteolin, luteolin-7-O-glucoside และ apigenin-7-O-glucoside
สารกลุ่มเทอร์ปีนอยด์ (terpenoids) ได้แก่ caryophyllene oxide, methyl thymyl ether, p-cymene, α-bergamotene, α-copaene, α-farnesene, β-farnesene และβ-caryophyllene
สารกลุ่มสเตอรอล (sterols) ได้แก่ campesterol, stigmasterol, β-amyrinและβ-sitosterol
สารกลุ่มกรดไขมัน (fatty acids) ได้แก่ arachidic acid, eicosenoic acid, lauric acid, linoleic acid, α-linoleic acid, linolenic acid, oleic acid, palmitic acid, pentadecanoic acidและstearic acid
สารกลุ่มโพลีโคซานอล (polycosanols) ได้แก่ docosanol, eicosanol, heneicosanol, heptacosanol, hexacosanol, octacosanol, tetracosanol, triacontanol และ tricosanol
สารกลุ่มโทโคฟีรอล (tocopherols) ได้แก่ α-tocopherol, β-tocopherol, γ-tocopherol และδ-tocopherol
สารประกอบฟีนอลิก (phenolic compounds)
สารกลุ่มฟลาโวนอยด์ (flavonoids)
สารกลุ่มเทอร์ปีนอยด์ (terpenoids)
สารกลุ่มสเตอรอล (sterols)
สารกลุ่มกรดไขมัน (fatty acids)
สารกลุ่มโพลีโคซานอล (polycosanols)
สารกลุ่มโทโคฟีรอล (tocopherols)
สารออกฤทธิ์ หรือ สารสำคัญ
⁃ สารออกฤทธิ์ต้านรังสียูวี ได้แก่ linoleic acid, oleic acid, linoleic acid และ palmitic acid (10)
⁃ สารออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ได้แก่ rosmarinic acid, rosmarinic acid-3-O-β-D-glycoside, caffeic acid และ caffeic acid-3-O-β-D-glycoside (11)
⁃ สารออกฤทธิ์ต้านการอักเสบ ได้แก่ linoleic acidและα-linoleic acid (12)
แนวทางการควบคุมคุณภาพ (วิเคราะห์ปริมาณสารสำคัญ)
1 สารกลุ่ม phenolic compounds (caffeic acid-3-O-β-D-glucoside, caffeic acid, rosmarinic acid-3-O-β-D-glucoside, rosmarinic acid และ rosmarinic acid methylester) และ สารกลุ่ม flavonoids (luteolin-7-O-glucoside, apigenin-7-O-glucoside, luteolin, apigenin, chrysoeriol)
การศึกษาที่ 1 วิธีที่ใช้ในการวิเคราะห์คือhigh-performance liquid chromatography (HPLC)/photodiode array detector (PDA)และ HPLC-electrospray ionization quadrupole time of-flight tandem mass spectrometry (HPLC-ESI/QTOF/MS/MS) โดยมีสภาวะการทดลองที่ใช้ในการวิเคราะห์ (5) ดังนี้
HPLC/PDA
column : Water Atlantis® T3 C18reverse-phase column (5 µm, 250x4.6มม.)และ Agilent Eclipse XDB-C18 column guard (5 µm, 12.5x4.6 มม.) อุณหภูมิ 25๐C
mobile phase : เมทานอล (A) และ 0.1% formic acid ใน water (B) อัตราส่วนความเข้มข้นปรับเปลี่ยนตามเวลาที่กำหนดโดย ความเข้มข้นของ A คือ 10-46% ที่เวลา 0-1นาที, ความเข้มข้นของ A คือ 46-50% ที่เวลา 1-7 นาที, ความเข้มข้นของ A คือ 50% ที่เวลา 7-12 นาที,ความเข้มข้นของ A คือ 50-100% ที่เวลา 12-22 นาที และความเข้มข้นของ A คือ 100-10% ที่เวลา 22-30 นาที
flow rate : 1.0มล./นาที
injection volume : 20 มคล.
detector :Water 2998 PDA Detectorที่ความยาวคลื่น 330 นาโนเมตร
ESI/QTOF/MS/MS
ทำการวิเคราะห์ด้วยเครื่อง QSTAR® tandem hybrid transmission quadrupole-TOF Mass Spectrometer (AB MDS SCIEX Turbo-ionspray®และ AB MDS SCIEX QSTAR® Elite)
ionization mode : positive and negative
ion spray voltage : 4.2 กิโลโวลต์
collision gas : N2
nebulizer gas : N2
declustering potential : 60 โวลต์
declustering potential 2 : 10 โวลต์
focusing potential : 265 โวลต์
collision energy : 35 โวลต์
MS conditions :
air pressure : 60 psi
auxiliary gas pressure : 50 psi
curtain gas : 20 psi
collision gas : 5 psi
source temperature : 500๐C
MS fingerprint analysis
column : no analytical column (two-way valve)
mobile phase : 100% methanol
flow rate : 0.25 มล./นาที
injection volume : 20 มคล.
Other MS conditions were the same as described above.
การศึกษาที่ 2 วิธีที่ใช้ในการวิเคราะห์คือ HPLC โดยมีสภาวะการทดลองที่ใช้ในการวิเคราะห์ (6) ดังนี้
column : RP-C18 column (5 µm, 250x4.6 มม.) อุณหภูมิคอลัมน์ 30๐C
mobile phase : methanol (A) และ 0.2 formic acid ใน water (B) อัตราส่วนความเข้มข้นปรับเปลี่ยนตามเวลาที่กำหนดโดยความเข้มข้นของ B เท่ากับ 95% ที่เวลา 0 นาที, B เท่ากับ 35% ที่เวลา 40 นาที, B เท่ากับ 30% ที่เวลา 55 นาที, B เท่ากับ 15% ที่เวลา 65 นาที และ B เท่ากับ 95% ที่เวลา 80 นาที
flow rate : 1.0 มล./นาที
injection volume : 20 มคล.
Detector : UV/VIS detector (SPD-20A) ที่ความยาวคลื่น 254, 280 และ 330 นาโนเมตร
การศึกษาทางคลินิก
1 การศึกษาเกี่ยวกับผิวหน้า
1.1 เพิ่มความยืดหยุ่นของผิว (F008)
ทดสอบประสิทธิภาพของครีมที่มีส่วนผสมของสารสกัดเมล็ดงาขี้ม้อน (ตัวอย่างจากประเทศไทย) ต่อความยืดหยุ่นของผิวหนังบนใบหน้า ในอาสาสมัครสุขภาพดีจำนวน 30 คน ทั้งชายและหญิง (อายุระหว่าง 35-55 ปี) โดยสารสกัดเมล็ดงาขี้ม้อนเตรียมได้จากการนำกากเมล็ดงาขี้ม้อนที่ผ่านการบีบน้ำมันออกแล้วมาแช่สกัดในเอทานอล 70% ที่อุณหภูมิห้อง นำไปปั่นเหวี่ยงในเครื่อง centrifuge ด้วยความเร็ว 500 รอบต่อนาที นาน 4 ชม. ตั้งทิ้งไว้ 1 คืน จากนั้นกรองเอาสารละลายแล้วนำไปปั่นเหวี่ยงอีกครั้งด้วยความเร็ว 1,000 รอบต่อนาที นาน 10 นาที เก็บส่วนใสที่อยู่ด้านบนแล้วนำไปทำให้เข้มข้นด้วยการระเหยแอลกอฮอล์ภายใต้สภาวะความดันต่ำที่อุณหภูมิ 45-50๐C นำสารสกัดที่ได้ละลายในน้ำและทำให้แห้งด้วยการแช่เยือกแข็ง จากนั้นนำมาผสมในครีมเบส (ไม่ระบุความเข้มข้น) และนำมาทดสอบประสิทธิภาพด้วยการทาครีมดังกล่าวบนผิวหน้าของอาสาสมัครปริมาณ 0.2 ก. วันละ 2 ครั้ง (เช้า-เย็น) นาน 4 สัปดาห์ ประเมินความยืดหยุ่นของผิวด้วยเครื่อง elasticity probe (Dermalab Combo® Series; Cortex Technology ApS, Hadsund, Denmark) ในสัปดาห์ที่ 0, 3 และ 4 ของการทดสอบ ผลจากการศึกษาพบว่า การทาครีมสารสกัดเอทานอลเมล็ดงาขี้ม้อนมีผลช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของผิวอาสาสมัครได้อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม (ทาครีมเบส) ในสัปดาห์ที่ 4 ของการทดสอบ แสดงให้เห็นว่าสารสกัดเมล็ดงาขี้ม้อนมีประสิทธิภาพที่จะนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับบำรุงผิวหน้าได้ (13)
1.2 ทำให้ผิวขาว (F001)
ทดสอบประสิทธิภาพของครีมที่มีส่วนผสมของสารสกัดเมล็ดงาขี้ม้อนต่อสีของผิวหนังบนใบหน้า ในอาสาสมัครสุขภาพดีจำนวน 30 คน ทั้งชายและหญิง (อายุระหว่าง 35-55 ปี) โดยนำกากเมล็ดงาขี้ม้อน(ตัวอย่างจากประเทศไทย)ที่ผ่านการบีบน้ำมันออกแล้วมาแช่สกัดในเอทานอล 70% ที่อุณหภูมิห้อง นำไปปั่นเหวี่ยงในเครื่อง centrifuge ด้วยความเร็ว 500 รอบต่อนาที นาน 4 ชม. ตั้งทิ้งไว้ 1 คืน จากนั้น กรองเอาสารละลายแล้วนำไปปั่นเหวี่ยงอีกครั้งด้วยความเร็ว 1,000 รอบต่อนาที นาน 10 นาที เก็บส่วนใสที่อยู่ด้านบนแล้วนำไปทำให้เข้มข้นด้วยการระเหยแอลกอฮอล์ภายใต้สภาวะความดันต่ำที่อุณหภูมิ 45-50๐C นำสารสกัดที่ได้ละลายในน้ำและทำให้แห้งด้วยการแช่เยือกแข็ง จากนั้นนำมาผสมในครีมเบส (ไม่ระบุความเข้มข้น) นำมาทดสอบประสิทธิภาพด้วยการทาครีมดังกล่าวบนผิวหน้าของอาสาสมัครปริมาณ 0.2 ก. วันละ 2 ครั้ง (เช้า-เย็น) นาน 4 สัปดาห์ ประเมินสีผิวด้วยเครื่อง skin color probe (Dermalab Combo® Series; Cortex Technology ApS, Hadsund, Denmark) ในสัปดาห์ที่ 0, 3 และ 4 ของการทดสอบผลจากการศึกษาพบว่า การทาครีมสารสกัดเอทานอลเมล็ดงาขี้ม้อนมีผลลดปริมาณเม็ดสี (melanin content)บนผิวหน้าของอาสาสมัครลงอย่างมีนัยสำคัญในสัปดาห์ที่ 4 ของการทดสอบ เมื่อเทียบกับช่วงเริ่มต้น (สัปดาห์ที่ 0) แสดงให้เห็นว่าสารสกัดเมล็ดงาขี้ม้อนมีประสิทธิภาพในการนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับลดความหมองคล้ำบนผิวหน้าได้ (13)
1.3 สารบำรุงผิวหน้า (F004)
เมล็ดงาขี้ม้อน (ตัวอย่างจากจังหวัดเชียงใหม่) นำมาตากบนถาดให้แห้งที่อุณหภูมิ 55๐Cจากนั้นบดให้ละเอียดกับน้ำในอัตราส่วน 1:2 (w/v) ด้วยเครื่องปั่น กรองสารละลายด้วยกระดาษกรองเบอร์ 1 และนำไปเข้าเครื่องปั่นเหวี่ยงที่ความเร็ว 5,000 g อุณหภูมิ 4๐C นาน 20 นาทีจะได้สารสกัดหยาบที่เป็นส่วนใสลอยอยู่ด้านบน นำสารสกัดหยาบที่ได้มาแยกสกัดน้ำมันและโปรตีนด้วยวิธี three-phase partition (TPP) ด้วยการเติม t-butanol และ (NH4)2SO4จากนั้นนำไปทำให้แยกชั้นด้วยการเขย่าแบบเป็นวงกลม (orbital shaking) ที่ความเร็ว 150 รอบ/นาที นาน 10 นาที แล้วนำไปเข้าเครื่องปั่นเหวี่ยงที่ความเร็ว 5,000 g อุณหภูมิ 4๐C นาน 20 นาทีเก็บของเหลวที่แยกอยู่ชั้นบนสุด (t-butanol) ไประเหยด้วยเครื่อง rotary evaporator จะได้ส่วนของน้ำมันจากเมล็ดงาขี้ม้อน และเก็บของเหลวที่แยกชั้นอยู่ตรงกลางจะได้ส่วนของโปรตีนจากเมล็ดงาขี้ม้อน โดยอัตราส่วนของสารสกัดหยาบต่อ t-butanol และความเข้มข้นของ (NH4)2SO4 ที่ทำให้ได้ปริมาณน้ำมันและโปรตีนที่ดีที่สุดคือ 1:2 และ 30% ตามลำดับ (น้ำมันและโปรตีนที่แยกได้เท่ากับ 35.13±2.67 และ 13.18±0.65% ตามลำดับ)และเมื่อวิเคราะห์องค์ประกอบของน้ำมันเมล็ดงาขี้ม้อนด้วยวิธี gas chromatography-mass spectrometer (GC-MS) พบว่า ประกอบด้วยกรดไขมันอิ่มตัว palmitic acid (16:0), stearic acid (18:0) และ arachidic acid (20:0) เท่ากับ 10.23±0.56, 6.07±0.12 และ 0.21±0.003% ตามลำดับ และกรดไขมันไม่อิ่มตัว linoleic acid (18:2) และ linolenic acid (18:3) เท่ากับ 11.7±0.14 และ 70.63±2.49% ตามลำดับ นำสารสกัดส่วนที่เป็นน้ำมัน (2ก.) และส่วนที่มีโปรตีน(1ก.) ที่สกัดได้จากงาขี้ม้อนไปตั้งตำรับสำหรับทำเป็นเซรั่มบำรุงผิวหน้า [part A :tocopheryl acetate caprylic/capric triglyceride, perilla oil, isopropyl palmitate, isopropyl isostearate, dimethicone, C12-15 alkyl benzoate, PEG-40 hydrogenated castor oil; Part B : DI water, methyl gluceth-20 and glycerin, sodium acrylates/beheneth-25 methacrylate crosspolymer (and) hydrogenated polydecene (and) lauryl glucoside, hydroxyethyl acrylate/sodium acryloyldimethyltaurate copolymer (and) squalene (and) polysorbate 60; part C : DI water,citric acid; part D : perilla protein, DMDM hydantoin] นำเซรั่มที่ได้ไปทดสอบคุณสมบัติทางกายภาพและทดสอบทางด้านประสาทสัมผัส (sensory evaluation) สำหรับตรวจสอบคุณภาพเบื้องต้นในอาสาสมัคร 20 คน (เพศชาย 10 คน และเพศหญิง 10 คน) พบว่า เซรั่มที่ได้มีความคงตัว เมื่อนำไปปั่นเหวี่ยงที่ความเร็ว 6,000 รอบ/นาที นาน 20 นาที เซรั่มไม่แยกชั้น และเมื่อทดสอบด้วยวิธี heating and cooling test พบว่า ค่า pH ไม่เปลี่ยนแปลง (ค่า pH อยู่ระหว่าง 5.5-5.6) ในขณะที่ความหนืดและสีเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย ผลการทดสอบทางด้านประสาทสัมผัสพบว่า อาสาสมัครให้ค่าคะแนนด้านกลิ่น การกระจายตัว (spreadability) เนื้อครีม (texture) เนื้อสัมผัส (feeling after application) และการดูดซึม (absorbability) เท่ากับ 5.70±0.46, 5.65±0.48, 5.45±0.50, 5.35±0.74 และ 4.95±0.68 ตามลำดับ และมีค่าคะแนนเฉลี่ยโดยรวมทั้งหมดเท่ากับ 5.47 (คะแนนเต็มเท่ากับ 6) (14)
การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา
1 การศึกษาเกี่ยวกับผิวกาย
1.1 ฤทธิ์ต้านรังสียูวี (S008)
ศึกษาฤทธิ์ต้านรังสี ultraviolet (UV) B ของน้ำมันเมล็ดงาขี้ม้อน (ตัวอย่างจากประเทศเกาหลีใต้, specimen no. WPC-18-001) ซึ่งสกัดได้ด้วยวิธีการสกัดเย็น (cold pressing) เมื่อวิเคราะห์องค์ประกอบของน้ำมันที่สกัดได้ พบกรดไขมัน 5 ชนิดได้แก่ linolenic acid (64.11%), oleic acid (16.34%), linoleic acid (11.87%) และ palmitic acid (5.06%) นำน้ำมันเมล็ดงาขี้ม้อนมาทดสอบฤทธิ์ต้านรังสียูวีบนเซลล์ผิวหนัง normal human dermal fibroblasts (NHDFs) ที่ได้รับการฉายรังสี UVB (50มิลลิจูล/ตร.ซม.) พบว่า น้ำมันเมล็ดงาขี้ม้อนเข้มข้น 0.625, 1.25 และ 2.5% มีผลยับยั้งการตายของเซลล์ที่เกิดจากการฉายรังสี UVB โดยผลที่ได้ขึ้นกับขนาดความเข้มข้น (dose-dependent) มีผลลดการเกิด reactive oxygen species (ROS) ซึ่งบ่งชี้ถึงการเกิดอนุมูลอิสระและเพิ่มการทำงานของเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระคือ superoxide dismutase (SOD) และมีผลลดการแสดงออกของโปรตีนและเอนไซม์ที่เป็นดัชนีบ่งชี้ถึงภาวะเสื่อมสภาพของผิวหนังได้แก่ metalloproteinase 1 (MMP-1)และ galactosidase นอกจากนี้ เมื่อนำน้ำมันเมล็ดงาขี้ม้อนมาทดสอบฤทธิ์ต้านรังสี UVB ในหนูเม้าส์ที่ไม่มีขน (HR1-hairless mouse) ด้วยการทาน้ำมันลงบนผิวหนังของหนู 5 และ 10 มคล. สัปดาห์ละ 3 ครั้ง หลังจากได้รับการฉายรังสี UVB พบว่าน้ำมันเมล็ดงาขี้ม้อนมีผลป้องกันการเกิดริ้วรอยบนผิวหนังลดการสูญเสียน้ำ ลดรอยแดงลดการสร้างเม็ดสี และยับยั้งความหนาของชั้นผิวหนัง (epidermal thickness) ซึ่งเกิดจากรังสี UVB และมีผลยับยั้งการแสดงออกของโปรตีนซึ่งบ่งชี้ถึงภาวะเสื่อมสภาพของผิวหนังได้แก่ MMP-3 และ galactosidase ผลจากการศึกษาแสดงให้เห็นว่า น้ำมันเมล็ดงาขี้ม้อนมีฤทธิ์ช่วยปกป้องผิวเสื่อมสภาพจากรังสียูวีได้ (10)
1.2 ฤทธิ์ลดเลือนริ้วรอย (S007)
กากเมล็ดงาขี้ม้อน (ตัวอย่างจากประเทศไทย)ที่ผ่านการบีบน้ำมันออกแล้ว นำมาแช่สกัดในเอทานอล 70% ที่อุณหภูมิห้อง แล้วนำไปปั่นเหวี่ยงในเครื่อง centrifuge ด้วยความเร็ว 500 รอบต่อนาที นาน 4 ชม. ตั้งทิ้งไว้ 1 คืน จากนั้น กรองเอาสารละลายแล้วนำไปปั่นเหวี่ยงอีกครั้งด้วยความเร็ว 1,000 รอบต่อนาที นาน 10 นาที เก็บส่วนใสที่อยู่ด้านบนแล้วนำไปทำให้เข้มข้นด้วยการระเหยแอลกอฮอล์ภายใต้สภาวะความดันต่ำที่อุณหภูมิ 45-50๐C นำสารสกัดที่ได้ละลายในน้ำและทำให้แห้งด้วยการแช่เยือกแข็ง และทดสอบฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ collagenase ซึ่งทำหน้าที่ย่อยสลายคอลลาเจนในผิวหนังทำให้ผิวมีริ้วรอยไม่เรียบเนียน โดยวิเคราะห์การยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ collagenase (ที่ได้จากจาก Clostridium histolyticum) ด้วยเครื่อง fluorescein conjugated gelation (Thermo Fisher) พบว่า สารสกัดเอทานอลเมล็ดงาขี้ม้อนที่มีความเข้มข้น 400 มคก./มล. มีผลยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ collagenase ได้อย่างมีนัยสำคัญ(82.0±3.23%) แสดงให้เห็นว่า สารสกัดเอทานอลเมล็ดงาขี้ม้อนอาจมีประโยชน์ในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับลดเลือนริ้วรอยบนผิวหนังได้ (13)
1.3 ทำให้ผิวขาว (ยับยั้งการสร้างเม็ดสี) (S001)
ศึกษาฤทธิ์ยับยั้งการสร้างเม็ดสีเมลานิน (melanin) ของเมล็ดกากงาขี้ม้อน (ตัวอย่างจากประเทศไทย)ซึ่งแช่สกัดในเอทานอล 70% ที่อุณหภูมิห้อง จากนั้น นำไปปั่นเหวี่ยงในเครื่อง centrifuge ด้วยความเร็ว 500 รอบต่อนาที นาน 4 ชม. ตั้งทิ้งไว้ 1 คืน จากนั้น กรองเอาสารละลายแล้วนำไปปั่นเหวี่ยงอีกครั้งด้วยความเร็ว 1,000 รอบต่อนาที นาน 10 นาที เก็บส่วนใสที่อยู่ด้านบนแล้วนำไปทำให้เข้มข้นด้วยการระเหยแอลกอฮอล์ภายใต้สภาวะความดันต่ำที่อุณหภูมิ 45-50๐C นำสารสกัดที่ได้ละลายในน้ำและทำให้แห้งด้วยการแช่เยือกแข็ง นำมาทดสอบฤทธิ์ยับยั้งการสร้างเม็ดสีเมลานินบนเซลล์ B16F10 melanoma cell พบว่า สารสกัดเอทานอลเมล็ดงาขี้ม้อน 10, 20 และ 40 มคก./มล. มีผลยับยั้งปริมาณเม็ดสีเมลานินในเซลล์ B16F10 ลง 82.7±3.4, 78.7±7.2 และ 71.1±8.2% ตามลำดับ ในขณะที่สารเปรียบเทียบarbutin (200 มคก./มล.) และ kojic acid (200 มคก./มล.) สามารถยับยั้งได้ 46.3±0.95 และ 51.5±5.2% ตามลำดับ แสดงให้เห็นว่า สารสกัดเอทานอลเมล็ดงานขี้ม้อนมีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างเม็ดสี ซึ่งอาจนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเครื่องสำอางสำหรับทำให้ผิวขาวได้ (13)
1.4 ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ (S006)
กากเมล็ดงาขี้ม้อน (ตัวอย่างจากประเทศไทย) ที่ผ่านการบีบน้ำมันออกแล้ว นำมาแช่สกัดในเอทานอล 70% ที่อุณหภูมิห้อง แล้วนำไปปั่นเหวี่ยงในเครื่อง centrifuge ด้วยความเร็ว 500 รอบต่อนาที นาน 4 ชม. ตั้งทิ้งไว้ 1 คืน จากนั้น กรองเอาสารละลายแล้วนำไปปั่นเหวี่ยงอีกครั้งด้วยความเร็ว 1,000 รอบต่อนาที นาน 10 นาที เก็บส่วนใสที่อยู่ด้านบนแล้วนำไปทำให้เข้มข้นด้วยการระเหยแอลกอฮอล์ภายใต้สภาวะความดันต่ำที่อุณหภูมิ 45-50๐C นำสารสกัดที่ได้ละลายในน้ำและทำให้แห้งด้วยการแช่เยือกแข็ง เมื่อวิเคราะห์หาปริมาณสารฟีนอลิคและฟลาโวนอยด์ในสารสกัดด้วยวิธี Folin-Ciocalteau assay และ The aluminum chloride colorimetric method พบว่า สารสกัดเอทานอลเมล็ดงาขี้ม้อนมีปริมาณฟีนอลิกเทียบเท่ากับ gallic acid 92.79±1.19 มก. /1 ก. ของสารสกัด และมีปริมาณฟลาโวนอยด์เทียบเท่ากับสาร catechin 56.02±2.83 มก./1 ก. ของสารสกัดนอกจากนี้เมื่อนำสารสกัดเอทานอลเมล็ดงาขี้ม้อนมาทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี 2, 2′-diphenyl-1-picrylhydrazyl (DPPH) radicals assay และ 2,2′-azino-bis (3-ethylbenzthiazoline-6-sulphonic acid) ABTS radicalsassay พบว่า ค่าความเข้มข้นของสารสกัดเอทานอลเมล็ดงาขี้ม้อนในการยับยั้งการเกิดอนุมูลอิสระลงครึ่งหนึ่ง (IC50) เท่ากับ 86.06±5.65 และ 24.84±2.21 มคก./มล. ตามลำดับ ในขณะที่สารเปรียบเทียบ ascorbic acid มีค่าเท่ากับ 3.07±0.18 และ 2.68±0.12 มคก./มล.ตามลำดับ (13)
ศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดเมล็ดงาขี้ม้อน 2 สายพันธุ์ได้แก่ งาขี้ม้อนพันธุ์เมล็ดสีน้ำตาล และงาขี้ม้อนพันธุ์เมล็ดสีขาว (ตัวอย่างจากจังหวัดแม่ฮ่องสอน) โดยนำเมล็ดงาขี้ม้อนมาอบแห้งที่อุณหภูมิ 60๐C นาน 2 ชม.และบดให้มีความละเอียด 20 mesh ด้วยเครื่องปั่น นำผงเมล็ดงาขี้ม้อนมาแช่สกัดโดยใช้เอทานอล 80% เป็นตัวทำละลายในเครื่อง ultrasonic bath ที่อุณหภูมิห้อง นาน 2 ชม. จากนั้นกรองเอาสารละลายด้วยผ้ากรองไนลอนขนาด 0.22 มม. และปรับปริมาตรสารสกัดให้ได้เท่ากับ 10 มล. ด้วยการเติมเอทานอล 80% นำสารสกัดที่ได้มาทดสอบหาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี DPPH assay, ABTSassay, ferric reducing antioxidant power (FRAP) และ reducing power พบว่า สารสกัดเอทานอลเมล็ดงาขี้ม้อนสีน้ำตาลมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงกว่าเมล็ดงาขี้ม้อนสีขาว โดยมีเปอร์เซ็นต์การยับยั้งการเกิดอนุมูลอิสระเท่ากับ 77.83±0.58 และ 20.86±0.26% ตามลำดับ เมื่อทดสอบด้วยวิธี DPPH assay ผลการทดสอบด้วยวิธี ABTS assay พบว่า ค่าความเข้มข้นของสารสกัดเอทานอลเมล็ดงาขี้ม้อนสีน้ำตาลในการยับยั้งการเกิดอนุมูลอิสระเท่ากับ 3.70±0.01 ไมโครโมลาร์ เทียบเท่า Trolox/ก. น้ำหนักแห้งของตัวอย่าง ในขณะที่สารสกัดเอทานอลเมล็ดงาขี้ม้อนสีขาวมีค่าเท่ากับ 0.36±0.00 ไมโครโมลาร์ เทียบเท่า Trolox/ก. น้ำหนักแห้งของตัวอย่าง ผลการทดสอบด้วยวิธี FRAP assay พบว่า ความเข้มข้นของสารสกัดเอทานอลเมล็ดงาขี้ม้อนสีน้ำตาลและสีขาวในการยับยั้งการเกิดอนุมูลอิสระมีค่าเท่ากับ 2.46±0.03 และ 2.26±0.02 ไมโครโมลาร์ เทียบเท่า Trolox/ก. น้ำหนักแห้งของตัวอย่างตามลำดับ และผลการทดสอบด้วยวิธี reducing power พบว่าความเข้มข้นของสารสกัดเอทานอลเมล็ดงาขี้ม้อนสีน้ำตาลและสีขาวในการยับยั้งการเกิดอนุมูลอิสระมีค่าเท่ากับ 0.47±0.01 และ 0.26±0.00 ไมโครโมลาร์ เทียบเท่า butylatehydroxytoluene (BHT)/100 ก. น้ำหนักแห้งของตัวอย่างตามลำดับ (15)
ศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดเมล็ดงาขี้ม้อน (ตัวอย่างจากประเทศไต้หวัน) โดยนำตัวอย่างเมล็ดงาขี้ม้อนแห้งมาบดด้วยโกร่ง และนำมาสกัดด้วยวิธีการสกัดแบบไหลย้อนกลับ (reflux) โดยใช้น้ำและเมทานอลเป็นตัวทำละลายในปริมาตรเท่ากัน ภายใต้อุณหภูมิ 70๐C นาน 4 ชม. จากนั้นกรองสารละลายด้วยกระดาษกรองเบอร์ 1 และนำสารสกัดไปทำให้เข้มข้นด้วยการระเหยแอลกอฮอล์ภายใต้สภาวะความดันต่ำที่อุณหภูมิ 60๐C นำสารสกัดเมล็ดงาขี้ม้อนที่ได้ไปวิเคราะห์หาปริมาณสารฟีนอลิกด้วยวิธี Folin-Ciocalteau assay พบว่า สารสกัดเมล็ดงาขี้ม้อนมีสารฟีนอลิก424.86±4.86 มคก. เทียบเท่ากับ gallic acid/ปริมาณสารสกัด 1 มล. และเมื่อนำสารสกัดไปทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี DPPH assay, superoxide radical scavenging assay และ reducing power พบว่า ค่าความเข้มข้นของสารสกัดเมล็ดงาขี้ม้อนในการยับยั้งการเกิดอนุมูลอิสระลงครึ่งหนึ่ง (IC50) เท่ากับ 16.52, 5.96 และ 21.46 มคก./มล. ตามลำดับ (สารเปรียบเทียบ gallic acid มีค่าเท่ากับ 3.59, 10.48 และ 12.32 มคก./มล.ตามลำดับ) และ ในการทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี chelating effect on ferrous ions พบว่า ค่า IC50 ของสารสกัดเมล็ดงาขี้ม้อนเท่ากับ 62.78 มคก./มล.ในขณะที่สารเปรียบเทียบ EDTA มีค่าเท่ากับ 8.82 มคก./มล. (16)
ศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารกลุ่มฟีนอลิกที่สกัดได้จากกากเมล็ดงาขี้ม้อนที่ผ่านการสกัดน้ำมันด้วยวิธีการบีบเย็น (ตัวอย่างจากประเทศจีน) โดยนำมาสกัดในสารละลาย H2SO4เข้มข้น 80% ที่อุณหภูมิ 90๐C นาน 1.5 ชม.จากนั้นปรับค่า pH ให้ได้เท่ากับ 7.0 ด้วย NaOH แล้วนำไปสกัดแยกใน HPD-200A microporous resin column ชะด้วยน้ำและเอทานอล 60% จากนั้นนำสารสกัดไปทำให้เข้มข้นด้วยการระเหยแอลกอฮอล์ที่อุณหภูมิ 60๐C โดยใช้เครื่อง rotary evaporator นำสารสกัดที่ได้ไปแยกและทำให้บริสุทธิ์ด้วยวิธี HPLC-DAD จะได้สารสำคัญในกลุ่มฟีนอลิก 4 ชนิดคือ rosmarinic acid, rosmarinic acid-3-O-β-D-glycoside, caffeic acid และ caffeic acid-3-O-β-D-glycosideนำสารทั้ง 4 ชนิดมาทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี DPPH assay, ABTS assay และ FRAP assay พบว่า rosmarinic acid มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระได้ดีที่สุด รองลงมาคือ rosmarinic acid-3-O-β-D-glycoside, caffeic acid และ caffeic acid-3-O-β-D-glycosideและพบว่าสาร glycoside ของ rosmarinic acid และ caffeic acid จะมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระน้อยกว่า rosmarinic acid และ caffeic acid ตามลำดับ จากผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า rosmarinic acid คือสารหลักในการออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่พบในกากเมล็ดงาขี้ม้อน (11)
ศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของโปรตีนที่สกัดได้จากเมล็ดงาขี้ม้อน (ตัวอย่างจากประเทศจีน) โดยมีวิธีเตรียมคือ นำเมล็ดงาขี้ม้อนที่ถูกกำจัดไขมันออก (defatted perilla seed)มาละลายใน NaOH (pH 9.4) ในอัตราส่วน 1:11 (w/v) คนเบา ๆ ด้วย magnetic stirring rod ที่อุณหภูมิ 58๐C นาน 1 ชม. จากนั้นนำไปปั่นเหวี่ยงด้วยความเร็ว 12,000 รอบ/นาที ที่อุณหภูมิ 4๐C นาน 15 นาที เก็บของเหลวส่วนเหนือตะกอนและปรับค่า pH ให้ได้เท่ากับ 4.0 ด้วย HCl จากนั้นนำไปปั่นเหวี่ยงอีกครั้งด้วยความเร็ว 12,000 รอบ/นาที ที่อุณหภูมิ 4๐C นาน 15 นาที แยกส่วนเหนือตะกอนและนำไปทำให้แห้งด้วยการแช่เยือกแข็งจากนั้นนำไปผสมน้ำอัตราส่วน 3% (w/v) ปรับค่า pH ให้ได้เท่ากับ 9.8 ด้วย NaOH และเติม alkaline protease ในอัตราส่วน 3,000 U/g บ่มที่อุณหภูมิ 50๐C นาน 5 ชม.ทำการหยุดปฏิกิริยาด้วยการให้ความร้อน 100๐C นาน 10 นาที นำไปปั่นเหวี่ยงด้วยความเร็ว 10,000 รอบ/นาที นาน 10 นาที และทำการเก็บส่วนใสเหนือตะกอนจะได้โปรตีนที่ผ่านการที่ถูกตัดพันธะให้มีขนาดเล็กลง (perilla seed protein hydrolysate, PSPH) นำไปแยกสกัดต่อใน Sephadex G-25 column และชะด้วยน้ำที่กำจัดอิออนออกจนหมด (flow rate 0.3 มล./นาที)จะสามารถแยกส่วนสกัดได้ 3 ส่วน (a, b, c) เมื่อนำมาทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี DPPH assay พบว่า ส่วนสกัด c มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่ดีที่สุด (ที่ความเข้มข้น 0.5 มก./กก. ยับยั้งการเกิดอนุมูลอิสระได้ 87.7%)นำส่วนสกัด c มาแยกและทำให้บริสุทธิ์ด้วยวิธี semi-preparative HPLC จะได้เพปไทด์ (peptides)2 ชนิดคือTyr-Leu(YL) และ Phe-Tyr (FY) นำเพปไทด์ทั้ง 2 ชนิดมาทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี ABTS assay, hydroxyl radical scavenging activity, superoxide anion radical scavenging activity และ ORAC assay ผลการศึกษาพบว่า YL และ FY ที่ความเข้มข้น 0.02 มก./มล. ขึ้นไปสามารถยับยั้งการเกิดอนุมูลอิสระได้ 100% เมื่อทดสอบด้วยวิธี ABTS assay และมีค่าความเข้มข้นในการยับยั้งการเกิดอนุมูลอิสระลงครึ่งหนึ่ง (IC50) เท่ากับ 3.71 และ 7.23 มคก./มล. ตามลำดับ [สารเปรียบเทียบ glutathione (GSH)มีค่า IC50เท่ากับ 5.52 มคก./มล.]ผลการทดสอบด้วยวิธี hydroxyl radical scavenging activity พบว่าFY สามารถยับยั้งการเกิดอนุมูลอิสระได้ดีกว่าสารเปรียบเทียบ GSH (IC50เท่ากับ 0.41 และ 1.00 มคก./มล.ตามลำดับ) ในขณะที่ YL ไม่แสดงฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในการทดสอบดังกล่าว ผลการทดสอบด้วยวิธี superoxide anion radical scavenging activity พบว่า YL และ FY ที่ความเข้มข้น 1.0 มก./มล.สามารถยับยั้งการเกิดอนุมูลอิสระได้ 42.63±0.47 และ 40.36±1.28% ตามลำดับ (สารเปรียบเทียบ GSH ความเข้มข้น 1.0 มก./มล. สามารถยับยั้งการเกิดอนุมูลอิสระได้ 97.36±0.47%)และผลการทดสอบด้วยวิธี ORAC assay พบว่า ค่า ORAC value ของ YL และ FY มีค่าเท่ากับ 3.90±0.01 และ 3.62±0.14 ไมโครโมลาร์ เทียบเท่ากับ Trolox /มก. ของเพปไทด์ตามลำดับ (ORAC value ของ สารเปรียบเทียบ GSH มีค่าเท่ากับ 1.60±0.10 ไมโครโมลาร์ เทียบเท่ากับ Trolox /มก. ของเพปไทด์)นอกจากนี้ เมื่อทดสอบฤทธิ์ยับยั้งการเกิดปฏิกิริยา lipid peroxidation บนเซลล์ตับหนูแรทพบว่า ค่า IC50ของ YL และ FY มีค่าเท่ากับ 3.02 และ 6.81 มก./มล. ในขณะที่สารเปรียบเทียบ GSH มีค่ามากกว่า 8.0 มก./มล.และการทดสอบบนเซลล์ human hepatoma (HepG-2) ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เซลล์ถูกทำลายด้วยอนุมูลอิสระ H2O2พบว่า YL (0.1 มก./มล.) และ FY (0.05 มก./มล.) สามารถป้องกันความเสียหายของเซลล์ที่เกิดจาก H2O2ได้ ผลจากการศึกษาแสดงให้เห็นว่า protein hydrolysate จากเมล็ดงาขี้ม้อนมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ (17)
1.5 ฤทธิ์ต้านการอักเสบ (S014)
ศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบของน้ำมันเมล็ดงาขี้ม้อน (ตัวอย่างจากประเทศอินเดีย, Ref. No. NBRI/CIF/300/2012) โดยนำเมล็ดงาขี้ม้อนมาบดให้ละเอียดและแช่ในปิโตรเลียมอีเทอร์ในขวดทึบแสง นาน 7 วัน จากนั้นกรองเอาแต่ส่วนของเหลวและทำการระเหยปิโตรเลียมอีเทอร์ออกไป นำน้ำมันที่สกัดได้มาทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบในหนูแรทด้วยฉีดเข้าช่องท้องขนาด 1 และ 2 มล./กก. จากนั้น 30 นาที ทำการฉีดสาร carrageenan (1% w/v, 0.1 มล.) เข้าอุ้งเท้าหนูพบว่า การฉีดน้ำมันเมล็ดงาขี้ม้อนขนาด 1 และ 2 มล./กก. มีผลลดอาการบวมของอุ้งเท้าหนูเมื่อเวลาผ่านไป 3 ชม. คิดเป็นเปอร์เซ็นต์การยับยั้งอาการบวมได้เท่ากับ 25.71 และ 24.28% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม (ฉีด carrageenan อย่างเดียว) ในขณะที่สารเปรียบเทียบ aspirin (100 มก./กก. ฉีดเข้าช่องท้อง) มีค่าเท่ากับ 48.57% และการทดลองฉีดน้ำมันเมล็ดงาขี้ม้อนขนาด 1 และ 2 มล./กก. เข้าทางช่องท้องหนูแรท จากนั้น 30 นาที ทำการฉีดสาร histamine (0.5 ไมโครโมลาร์) เข้าอุ้งเท้าหนูพบว่า การฉีดน้ำมันเมล็ดงาขี้ม้อนขนาด 1 และ 2 มล./กก. มีผลลดอาการบวมของอุ้งเท้าหนูเมื่อเวลาผ่านไป 3 ชม. คิดเป็น เปอร์เซ็นต์การยับยั้งอาการบวมได้เท่ากับ 32.35 และ 38.53% ตามลำดับเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม (ฉีด histamine อย่างเดียว) ในขณะที่สารเปรียบเทียบ chlorpheniramine (100 มก./กก. ฉีดเข้าช่องท้อง) มีค่าเท่ากับ 50.06% แสดงให้เห็นว่าน้ำมันจากเมล็ดงาขี้ม้อนมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ (18)
ศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบของน้ำมันจากเมล็ดงาขี้ม้อน (ตัวอย่างจากประเทศไต้หวัน, ไม่ระบุวิธีการสกัด) โดยผสมลงในอาหารเลี้ยงหนูเม้าส์ที่ถูกเหนี่ยวนำให้มีภาวะภูมิแพ้ทางเดินหายใจ โดยแบ่งหนูเม้าส์ออกเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 เลี้ยงด้วยอาหารปกติ (กลุ่มควบคุม) กลุ่มที่ 2 เลี้ยงด้วยอาหารที่มีส่วนผสมของน้ำมันเมล็ดข้าวโพด 5% (ประกอบด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัว linoleic acid, 18:2n-6 polyunsaturated fatty acid)กลุ่มที่ 3 เลี้ยงด้วยอาหารที่มีส่วนผสมของน้ำมันเมล็ดงาขี้ม้อน5% (ประกอบด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัว α-linoleic acid, 18:3n-3 polyunsaturated fatty acid) และกลุ่มที่ 4 เลี้ยงด้วยอาหารที่มีส่วนผสมของน้ำมันเมล็ดข้าวโพด (50%) และเมล็ดงาขี้ม้อน (50%)5% ทำการเลี้ยงต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 5 สัปดาห์ เมื่อเลี้ยงครบ 7 วัน ทำการเหนี่ยวนำหนูเม้าส์กลุ่มที่ 2, 3 และ 4 ให้มีภาวะภูมิแพ้ทางเดินหายใจด้วยการฉีด alum-precipitated antigen 2 มล. (ประกอบด้วย ovalbumin 8 มคก.) และ Al(OH)32 มก.เข้าทางช่องท้องของหนูเม้าส์(กลุ่มควบคุมให้ฉีด alum-phosphate-buffered saline)และทำการกระตุ้นซ้ำด้วยวิธีเดียวกันนี้ในวันที่ 14 และ 21 ของการทดลอง จากนั้นในวันที่ 30 ของการทดลองทำการเหนี่ยวนำด้วยการพ่น (aerosolized) ovalbumin ความเข้มข้น 5 มก./PBS 1 มล. นาน 24 ชม. (กลุ่มควบคุมพ่นPBS เพียงอย่างเดียว) และทำการกระตุ้นซ้ำด้วยวิธีเดียวกันนี้ในวันที่ 33 ของการทดลองเมื่อสิ้นสุดการทดลอง (วันที่ 35)ทำการเก็บน้ำจากถุงลม (bronchoalveolar lavage fluid, BALF) เพื่อมาวิเคราะห์ปริมาณเม็ดเลือดขาว โปรตีน และเอนไซม์ที่ตอบสนองต่อภาวะอักเสบ ผลการศึกษาพบว่า น้ำมันเมล็ดงาขี้ม้อนมีผลลดการแสดงออกของโปรตีนที่เกี่ยวข้องในกระบวนการอักเสบได้แก่ tumor necrosing factor α(TNF-α), interleukin 1β (IL-1β), IL-6, IL-2, IL-10 และ interferon γ(IFN-γ) อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับน้ำมันข้าวโพดและน้ำมันทั้ง 2 ชนิด แสดงให้เห็นว่าน้ำมันเมล็ดงาขี้ม้อนสามารถช่วยบรรเทาอาการอักเสบในระบบทางเดินหายใจ โดยมีฤทธิ์ยับยั้งการแสงออกของ cytokine ที่ตอบสนองต่อภาวะอักเสบได้ (19)
ศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบของน้ำมันจากเมล็ดงาขี้ม้อน (ตัวอย่างจากประเทศไต้หวัน, ไม่ระบุวิธีการสกัด) โดยผสมลงในอาหาร(5%) ที่ใช้เลี้ยงหนูเม้าส์ซึ่งถูกเหนี่ยวนำให้มีภาวะภูมิแพ้ทางเดินหายใจ ด้วยการฉีดและสเปรย์ ovalbumin [ทำการเลี้ยงหนูเป็นระยะเวลา 5 สัปดาห์ เมื่อเลี้ยงครบ 7 วัน ทำการกระตุ้นหนูเม้าส์ให้มีภาวะภูมิแพ้ทางเดินหายใจด้วยการฉีด alum-precipitated antigen 2 มล. (ประกอบด้วย ovalbumin 8 มคก.) และ Al(OH)32 มก.เข้าทางช่องท้องของหนูเม้าส์ และทำการกระตุ้นซ้ำด้วยวิธีเดียวกันนี้ในวันที่ 14 และ 21 ของการทดลอง และในวันที่ 30 ของการทดลองทำการเหนี่ยวนำด้วยการพ่น (aerosolized) ovalbumin ความเข้มข้น 5 มก./PBS 1 มล. นาน 24 ชม.) และทำการกระตุ้นซ้ำด้วยวิธีเดียวกันนี้ในวันที่ 33 ของการทดลอง] เมื่อสิ้นสุดการทดลอง ทำการเก็บเซลล์จาก BALF, ตัวอย่างเซลล์ปอดและม้ามเพื่อตรวจวิเคราะห์ระดับ cytokine ที่เกิดขึ้นจากการกระตุ้นด้วย lipopolysaccharide (LPS) โดยวิธี enzyme-linked immunosorbent assay (ELISA) ผลการศึกษาพบว่า น้ำมันเมล็ดงาขี้ม้อนมีผลลดการสร้างIL-1β และ TNF-α ในเซลล์ปอดที่ถูกกระตุ้นด้วย LPS และลดการสร้าง IFN-γ และ IL-6 ในเซลล์ม้ามที่ถูกกระตุ้นด้วย LPS และยังมีผลเพิ่มอัตราส่วนระหว่าง IFN-γ/IL-5 (Th1/Th2cytokine) ในเซลล์ BALF ที่ถูกกระตุ้นด้วย LPS แต่มีผลลดอัตราส่วนระหว่าง IL-6/IL-10 (pro-inflammatory cytokine/anti-inflammatory cytokine) ในเซลล์ม้ามที่ถูกกระตุ้นด้วย LPSแสดงให้เห็นว่า น้ำมันเมล็ดงาขี้ม้อนมีฤทธิ์ช่วยปกป้องทางเดินหายใจจากอาการอักเสบเนื่องจากภูมิแพ้ในสัตว์ทดลองได้ (20)
ศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบของน้ำมันจากเมล็ดงาขี้ม้อน(ตัวอย่างจากประเทศเกาหลีใต้, ไม่ระบุวิธีการสกัด) โดยผสมลงในอาหาร(8%) ที่ใช้เลี้ยงหนูเม้าส์ซึ่งถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบในลำไส้ (colonic inflammation)ด้วยอาหารที่มีไขมันสูง (อัตราส่วนระหว่างกรดไขมันอิ่มตัว/กรดไขมันไม่อิ่มตัว เท่ากับ -0.61, omega-6/omega-3 เท่ากับ 12.5) ซึ่งเมื่อผสมน้ำมันเมล็ดงาขี้ม้อน 8% ลงในอาหารแล้ว (treat group) อัตราส่วนระหว่างกรดไขมันอิ่มตัว/กรดไขมันไม่อิ่มตัวจะมีค่าเท่ากับ -0.44 และอัตราส่วนระหว่าง omega-6/omega-3 เท่ากับ 1ทำการเลี้ยงหนูเม้าส์ด้วยอาหารดังกล่าวต่อเนื่องเป็นเวลา 16 สัปดาห์ เมื่อสิ้นสุดการทดลองทำการเก็บตัวอย่างเลือดและผ่าซากเพื่อเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อในลำไส้เพื่อตรวจวิเคราะห์การแสดงออกของ cytokine ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการอักเสบ ผลจากการศึกษาพบว่า น้ำมันเมล็ดงาขี้ม้อนมีผลลดระดับIL-1βและ TNF-αในเลือดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม (เลี้ยงด้วยอาหารไปขมันสูง) เช่นเดียวกับผลการวิเคราะห์ในตัวอย่างเนื้อเยื่อลำไส้ซึ่งพบว่า น้ำมันเมล็ดงาขี้ม้อนมีผลลดระดับ IL-1β, IL-6และ TNF-αลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมนอกจากนี้ ยังมีผลลดการแสดงออกของ cyclooxygenase 2 (COX-2) และลดการสร้าง nitric oxide (NO) ซึ่งบ่งชี้ถึงภาวะอักเสบในตัวอย่างเนื้อเยื่อลำไส้ที่ถูกกระตุ้นด้วย nuclear factor kappa B (NF-κB) และมีผลเพิ่มการแสดงออกของยีนที่เกี่ยวข้องในกระบวนการต้านการอักเสบคือzonulaoccludens-1 (ZO-1) แสดงให้เห็นว่า น้ำมันเมล็ดงาขี้ม้อนมีฤทธิ์ต้านการอักเสบของลำไส้ที่เกิดจากการเหนี่ยวนำด้วยอาหารที่มีไขมันสูงได้ (21)
การศึกษาทางพิษวิทยาและความปลอดภัย
ทดสอบฤทธิ์ก่อระคายเคืองบนผิวหนังของครีมที่มีส่วนผสมของสารสกัดเอทานอลเมล็ดงาขี้ม้อน ในอาสาสมัครสุขภาพดีจำนวน 30 คน ทั้งชายและหญิง (อายุระหว่าง 35-55 ปี) โดยนำกากเมล็ดงาขี้ม้อน (ตัวอย่างจากประเทศไทย) ที่ผ่านการบีบน้ำมันออกแล้วมาแช่สกัดในเอทานอล 70% ที่อุณหภูมิห้อง นำไปปั่นเหวี่ยงในเครื่อง centrifuge ด้วยความเร็ว 500 รอบต่อนาที นาน 4 ชม. ตั้งทิ้งไว้ 1 คืน จากนั้น กรองเอาสารละลายแล้วนำไปปั่นเหวี่ยงอีกครั้งด้วยความเร็ว 1,000 รอบต่อนาที นาน 10 นาที เก็บส่วนใสที่อยู่ด้านบนแล้วนำไปทำให้เข้มข้นด้วยการระเหยแอลกอฮอล์ภายใต้สภาวะความดันต่ำที่อุณหภูมิ 45-50๐C นำสารสกัดที่ได้ละลายในน้ำและทำให้แห้งด้วยการแช่เยือกแข็ง จากนั้นนำมาผสมในครีมเบส (ไม่ระบุความเข้มข้น) และนำมาทดสอบการแพ้ด้วยวิธี skin irritation patch test บริเวณผิวหนังด้านหลังส่วนบนของอาสาสมัคร (48 ชม.) ผลจากการทดสอบพบว่า ครีมสารสกัดเอทานอลเมล็ดงาขี้ม้อนไม่ก่อให้เกิดผื่นแดงหรืออาการบวม (ค่า primary dermal irritation index, PDII เท่ากับ 0.00) แสดงให้เห็นว่าครีมที่มีสารสกัดเอทานอลเมล็ดงาขี้ม้อนมีความปลอดภัย (13)
พบรายงานความเป็นพิษจากการรับประทานเมล็ดงาขี้ม้อนในผู้ป่วยเพศชาย 2 ราย อายุ 20 และ 21ปี โดยมีอาการลมพิษ หายใจลำบาก และเวียนศีรษะ หลังจากรับประทานอาหารที่มีเมล็ดงาขี้ม้อนเป็นส่วนประกอบโดยอาการเกิดขึ้นทันทีหลังจากรับประทานอาหาร จากการสอบถามพบว่า ผู้ป่วยทั้ง 2 ราย มีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้ และจากการทดสอบการแพ้ด้วยวิธี skin prick test ผู้ป่วยแสดงผลบวกต่อสารก่อภูมิแพ้โดยการสูดดมทั่วไป (common inhalant allergens) รวมถึงไรฝุ่น และผู้ป่วยทั้ง 2 ราย ยังมีอาการเยื่อจมูกอักเสบและหอบหืดเป็นเวลาหลายปี เมื่อทำการทดสอบการแพ้ต่อสารสกัดเมล็ดงาขี้ม้อน (10 มก./มล.) ด้วยวิธี skin prick test พบว่า ให้ผลเป็นบวกนอกจากนี้ เมื่อทำการทดสอบการแพ้ด้วยวิธีให้รับประทานอาหารที่สงสัยว่าแพ้ (oralfood challenge test) ซึ่งประกอบด้วยเมล็ดงาขี้ม้อน 500 มก. พบว่าผู้ป่วยทั้ง 2 ราย แสดงอาการแพ้ในทันที โดยมีอาการลมพิษ หน้าบวม หายใจลำบาก และกล่องเสียงบวม และแพทย์ได้ทำการรักษาอาการให้ดีขึ้นโดยใช้ยา epinephrine, methyl-prednisolone และ antihistamine (22)
การศึกษาความเป็นพิษแบบกึ่งเรื้อรัง (sub-chronic)ของน้ำมันเมล็ดงาขี้ม้อน (ตัวอย่างจากประเทศจีน) ซึ่งสกัดได้จากวิธีการบีบเมล็ด (squeezing extraction)โดนป้อนให้แก่หนูแรทขนาดวันละ 4, 8 และ 16 ก./กก. นาน 90 วัน พบว่า การป้อนน้ำมันเมล็ดงาขี้ม้อนทุกขนาดไม่ทำให้หนูตาย การป้อนขนาด16 ก./กก. มีผลทำให้หนูแพศผู้น้ำหนักลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม (ป้อนน้ำเกลือ) และสังเกตพบว่าหนูเพศผู้กินอาหารได้น้อยลงตั้งแต่วันที่ 7 ของการทดลอง ในขณะที่หนูเพศเมียไม่พบการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ผลการตรวจค่าทางชีวเคมีในเลือดพบว่า เมื่อสิ้นสุดการทดลอง ระดับเม็ดเลือดขาวชนิด neutrophil ในหนูเพศผู้ที่ได้รับน้ำมันเมล็ดงาขี้ม้อน 8 ก./กก. เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และระดับเม็ดเลือดขาวชนิด lymphocyte ลดต่ำลงระหว่างการทดลองในหนูเพศผู้ที่ได้รับน้ำมันเมล็ดงาขี้ม้อน 16 ก./กก.แต่ไม่พบการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวในหนูเพศเมีย นอกจากนี้ยังพบว่า เมื่อสิ้นสุดการทดลองระดับเอนไซม์ alkaline phosphatase (ALP)ในเลือดของหนูเพศผู้ที่ได้รับน้ำมันเมล็ดงาขี้ม้อน 16 ก./กก. เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและระดับ urea nitrogen(BUN) ลดต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมในขณะที่หนูแพศเมียที่ได้รับน้ำมันเมล็ดงาขี้ม้อน 8 และ 16 ก./กก.มีผลทำให้ระดับalbumin และคอเลสเตอรอลในเลือดลดลงและระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมอย่างไรก็ตาม ค่าทางชีวเคมีในเลือดดังกล่าวกลับเข้าสู่ระดับปกติเมื่องดการป้อนน้ำมันเมล็ดงาขี้ม้อนใน 30 วัน (23)
ข้อห้ามใช้
ยังไม่มีรายงานข้อห้ามใช้ในรูปแบบของเครื่องสำอาง
ข้อควรระวัง
ยังไม่มีรายงานข้อห้ามใช้ในรูปแบบของเครื่องสำอาง
อาการไม่พึงประสงค์
ยังไม่มีรายงานอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ในรูปแบบของเครื่องสำอาง
ขนาดที่แนะนำ (ข้อมูลจากการศึกษาทางคลินิก)
ครีมที่มีส่วนผสมของสารสกัดเอทานอล 70% จากกากเมล็ดงาขี้ม้อนที่ผ่านการบีบน้ำมัน (ไม่ระบุความเข้มข้น) โดยทาครีมดังกล่าวบนผิวหน้าของอาสาสมัครปริมาณ 0.2 ก. วันละ 2 ครั้ง (เช้า-เย็น) นานติดต่อกัน 4 สัปดาห์ มีผลช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นและลดปริมาณเม็ดสีของผิวหน้า (13)
เซรั่มบำรุงผิวหน้าที่มีส่วนผสมของสารสกัดเมล็ดงาขี้ม้อนส่วนที่เป็นน้ำมัน (2 ก.) และส่วนที่มีโปรตีน (1 ก.) [สกัดด้วยวิธีบดเมล็ดกับน้ำในอัตราส่วน 1:2 (w/v) ปั่นแยกสารละลายด้วยเครื่องปั่นเหวี่ยง และนำสารสกัดที่ได้มาแยกสกัดน้ำมันและโปรตีนด้วยวิธี three-phase partition (TPP)] โดยอาสาสมัครผู้ทดสอบทางด้านประสาทสัมผัสจากการใช้เซรั่มดังกล่าวให้คะแนนด้านกลิ่น การกระจายตัว เนื้อเซรั่มเนื้อสัมผัสและการดูดซึม ในระดับดีมาก (14)
สิทธิบัตร
DIP (THAILAND-TH)
USPTO (USA)
สรุป
จากการรวบรวมข้อมูลงานวิจัย น้ำมันและสารสกัดจากเมล็ดงาขี้ม้อน มีแนวโน้มที่ดีในการนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เนื่องจากมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่สนับสนุนได้แก่เพิ่มความยืดหยุ่นของผิว ทำให้ผิวขาว ยับยั้งการสร้างเม็ดสี ป้องกันรังสียูวี ลดเลือนริ้วรอย ต้านอนุมูลอิสระ และต้านการอักเสบ แม้ว่าข้อมูลวิจัยในระดับคลินิกยังมีจำนวนน้อย อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในปัจจุบันจะมีการนำเมล็ดงาขี้ม้อนมาใช้ประโยชน์เพื่อการบริโภคอย่างแพร่หลาย แต่ก็ยังพบรายงานการแพ้ในผู้ใช้บางราย ซึ่งในการส่งเสริมหรือพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางก็ควรระมัดระวังเรื่องในการแพ้เช่นเดียวกัน
เอกสารอ้างอิง
1. สุธรรม อารีกุล. องค์ความรู้เรื่องพืชป่าที่ใช้ประโยชน์ทางภาคเหนือของไทย เล่ม 2. เชียงใหม่ : มูลนิธิโครงการหลวง; 2552.
2. Perilla frutescens (L.) Britton. The plant list. [Internet]. 2012 [cited 2020 Dec 7]. Available from: http://www.theplantlist.org/tpl1.1/record/kew-150299
3. วงศ์สถิตย์ ฉั่วกุล, พร้อมจิต ศรลัม, วิชิต เปานิล, รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล, บรรณาธิการ. สมุนไพรไม้พื้นบ้านล้านนา. กรุงเทพฯ : บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน); 2539.
4. De Guzman CC, Siemonsma JS. Perilla frutescens (PROSEA) - Plant Resources of South-East Asia [internet]. 2021 [cited 4 May 2021]. Available from: https://uses.plantnet-project.org/en/Perilla_frutescens_(PROSEA)
5. Guan Z, Li S, Lin Z, Yang R, Zhao Y, Liu J, et al. Identification and quantitation of phenolic compounds from the seed and pomace of Perilla frutescens using HPLC/PDA and HPLC-ESI/QTOF/MS/MS. Phytochem Anal. 2014;25(6):508-13.doi: 10.1002/pca.2521.
6. Zhou XJ, Yan LL, Yin PP, Shi LL, Zhang JH, Liu YJ, Ma C. Structural characterisation and antioxidant activity evaluation of phenolic compounds from cold-pressed Perillafrutescens var. arguta seed flour. Food Chem. 2014;164:150-7.doi: 10.1016/j.foodchem.2014.05.062.
7. Peng Y, Ye J, Kong J. Determination of phenolic compounds in Perilla frutescens L. by capillary electrophoresis with electrochemical detection. J Agric Food Chem. 2005;53(21):8141-7.doi: 10.1021/jf051360e.
8. Liu J, Wan Y, Zhao Z, Chen H. Determination of the content of rosmarinic acid by HPLC and analytical comparison of volatile constituents by GC-MS in different parts of Perilla frutescens (L.) Britt. Chem Cent J. 2013;7(1):61.doi: 10.1186/1752-153X-7-61.
9. Kim JK, Park SY, Na JK, Seong ES, Yu CY. Metabolite profiling based on lipophilic compounds for quality assessment of perilla (Perilla frutescens) cultivars. J Agric Food Chem. 2012;60(9):2257-63.doi: 10.1021/jf204977x.
10. Choi HJ, Song BR, Kim JE, Bae SJ, Choi YJ, Lee SJ, et al. Therapeutic effects of cold-pressed perilla oil mainly consisting of linolenic acid, oleic acid and linoleic acid on UV-induced photoaging in NHDF cells and SKH-1 hairless mice. Molecules. 2020;25(4):989. doi: 10.3390/molecules25040989.
11. Zhang Y, Mei X, Zhang Q, Li M, Wu X, Ma C. Protective effect of a rosmarinic acid-rich extract from cold-pressed Perilla frutescens seed flour on oxidative hepatotoxicity in vitro and in vivo. J Food Biochem.2018;42:e12492.doi:10.1111/jfbc.12492.
12. Chang HH, Chen CS, Lin JY. Dietary perilla oil inhibits proinflammatory cytokine production in the bronchoalveolar lavage fluid of ovalbumin-challenged mice. Lipids. 2008;43(6):499-506.doi: 10.1007/s11745-008-3171-8.
13. Mungmai L, Preedalikit W, Pintha K, Tantipaiboonwong P, Aunsri N. Collagenase and melanogenesis inhibitory effects of Perilla frutescens pomace extract and its efficacy in topical cosmetic formulations. Cosmetics. 2020;7(3):69.doi: 10.3390/cosmetics7030069.
14. Pintathong P, Chaiwut P, Thitipramote N, Thitilertdecha N, Nantitanont W, Sangthong S, et al. Simultaneous extraction oil and protein from perilla seed by three-phase partitioning and their application in serum. J Appl Sci. 2018;17(special issue):73-84.doi: 10.14416/j.appsci.2018.02.S09.
15. Kongkeaw S, Riebroy S, Chaijan M. Comparative studies on chemical composition, phenolic compounds and antioxidant activities of brown and white perilla (Perilla frutescens) seeds. Chiang Mai J Sci. 2015;42(4):896-906.
16. Lin ES, Li CC, Chou HJ. Evaluation of the antioxidant and antiradical activities of perilla seed, leaf and stalk extracts. J Med Plant Res. 2014;8(2):109-15.doi:10.5897/JMPR10.215.
17. Yang J, Hu L, Cai T, Chen Q, Ma Q, Yang J, et al. Purification and identification of two novel antioxidant peptides from perilla (Perilla frutescens L. Britton) seed protein hydrolysates. PLoS One. 2018;13(7):e0200021. doi: 10.1371/journal.pone.0200021.
18. Sen S, Singh S, Singh SK, Tripathi D, Mishra C, Bhagat A, et al. Evaluation of anti-inflammatory, analgesic and antipyretic potential of Perilla frutescens fixed oil. EJMCM. 2020;7(10):3477-87.
19. Chang HH, Chen CS, Lin JY. Dietary perilla oil inhibits proinflammatory cytokine production in the bronchoalveolar lavage fluid of ovalbumin-challenged mice. Lipids. 2008;43(6):499-506.doi: 10.1007/s11745-008-3171-8.
20. Chang HH, Chen CS, Lin JY. Protective effect of dietary perilla oil on allergic inflammation in asthmatic mice. Eur J Lipid Sci Technol. 2012;114:1007-15.doi: 10.1002/ejlt.201100339.
21. Thomas SS, Cha YS, Kim KA. Perilla oil alleviates high-fat diet-induced inflammation in the colon of mice by suppressing nuclear factor-kappa B activation. J Med Food. 2020;23(8):818-826.doi: 10.1089/jmf.2019.4675.
22. Jeong YY, Park HS, Choi JH, Kim SH, Min KU. Two cases of anaphylaxis caused by perilla seed. J Allergy Clin Immunol. 2006;117(6):1505-6.doi: 10.1016/j.jaci.2006.02.044.
23. Zhang HX, Tian YH, Guan J, Xie QM, Zhao YQ. The anti-tussive, anti-inflammatory effects and sub-chronic toxicological evaluation of perilla seed oil. J Sci Food Agric. 2021;101(4):1419-27.doi: 10.1002/jsfa.10755.
24. สัจจะ ประสงค์ทรัพย์. งาขี้ม้อน-ฐานข้อมูลพันธุกรรมพืชสวน [อินเตอร์เน็ต]. 2556 [เข้าถึงเมื่อ 9 พฤษภาคม2564]. เข้าถึงได้จาก:http://hort.ezathai.org/?p=3983#